เจ้าพระยาสุรบดินทรสุรินทรฦาไชย (พร จารุจินดา) เป็นบุตรของ พระยาเพชรพิไชย (ทองจีน จารุจินดา) และคุณหญิงเย็น เพชรพิไชย (เกตุทัต) เกิดเมื่อวันที่ ๒ ธันวาคม ๒๔๐๖ มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน ๑๐ คน มีพี่น้องร่วมบิดา ๑ คน
การศึกษา
เมื่ออายุ ๑๑ ปี ได้เข้าศึกษาในโรงเรียนพระบรมมหาราชวังและในโรงเรียนสวนนันทอุทยาน
การรับราชการ
-
-
- ๒๗ ตุลาคม พ.ศ.๒๔๒๘ เมื่อสำเร็จการศึกษาแล้วได้เข้ารับราชการสนองพระเดชพระคุณพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รับพระราชทานสัญญาบัตรเป็น นายรองฉัน มหาดเล็กเวรศักดิ์
- ๑๔ ตุลาคม ๒๔๒๙ เลื่อนเป็น จ่าห้าวยุทธการ ในกรมพระตำรวจขวา (ได้ขี่ม้ารำทวนถวายทอดพระเนตรหน้าพลับพลา ในงานพระเมรุสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทา คู่กับ คุณพิณเทพเฉลิม บุนนาค)
- พ.ศ.๒๔๓๘ ย้ายไปเป็นข้าหลวงเมืองฉะเชิงเทรา
- พ.ศ.๒๔๓๙ ย้ายมาเป็นเลขานุการของเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย
- ๒ มกราคม ๒๔๔๐ เลื่อนบรรดาศักดิ์เป็น พระยาอุทัยมนตรี ตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดปราจีนบุรี
- ๒๑ มิถุนายน ๒๔๔๑ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ย้ายไปเป็นข้าหลวงประจำนครลำพูน
- พ.ศ.๒๔๔๕ ย้ายไปเป็นข้าหลวงประจำนครลำปาง ในระยะเวลาเกิดขบถเงี้ยว ได้รักษาบ้านเมืองไว้ได้เรียบร้อย จนเสร็จการจราจล
- พ.ศ.๒๔๔๙ ย้ายไปเป็นข้าหลวงนครน่าน และในปีเดียวกันนั้นได้เลื่อนขึ้นเป็นสมุหเทศาภิบาลมณฑลพิษณุโลก
- พ.ศ.๒๔๕๔ ได้รับพระราชทานยศเป็น มหาอำมาตย์ตรี
- พ.ศ.๒๔๕๕ ได้เลื่อนบรรดาศักดิ์เป็น พระยาสุรบดินทรสุรินทรฦาไชย
- ๔ เมษายน ๒๔๕๘ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็น องคมนตรี
- ๑๑ กรกฎาคม ๒๔๕๘ ได้รับพระราชทานยศเป็น มหาเสวกตรี
- ๒๘ ตุลาคม ๒๔๖๔ ย้ายไปรับราชการแทนอุปราชมณฑลพายัพ เมื่อเวลาทรงประชวร (พระองค์เจ้าบวรเดช)
- ๑ สิงหาคม ๒๔๖๕ เป็นอุปราชมณฑลพายัพ
- ๑๑ พฤศจิกายน ๒๔๖๘ เลื่อนบรรดาศักดิ์เป็น เจ้าพระยาสุรบดินทรสุรินทรฦาไชย ดำรงศักดินา ๑๐๐๐๐
- ๑ เมษายน ๒๔๖๙ เนื่องแต่การแก้ไขเศรษฐกิจตกต่ำในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ย้ายเข้ามาเป็นสมุหพระนครบาล ในกรุงเทพฯ และโปรดเกล้าฯ ให้เป็นผู้แทนปลัดกระทรวงมหาดไทย อีกตำแหน่งหนึ่งด้วย
- ๔ เมษายน ๒๔๖๙ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตั้งให้เป็นองคมนตรี
- ๒๒ พฤษภาคม ๒๔๖๙ ได้รับพระราชทานยศเป็น มหาเสวกโท
- ๑๐ พฤษภาคม ๒๔๗๑ กราบถวายบังคมลาออกจากราชการ เพราะชรา ได้รับพระราชทานบำนาญพิเศษ
-
เครื่องราชอิสริยาภรณ์
เจ้าพระยาสุรบดินทรสุรินทรฦาไชย ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ดังนี้
-
-
- พ.ศ.๒๔๓๓ เบญจมาภรณ์มงกุฎไทย
- พ.ศ.๒๔๔๐ จตุรถาภรณ์ช้างเผือก
- พ.ศ.๒๔๔๗ ตริตาภรณ์มงกุฎไทย
- พ.ศ.๒๔๕๔ ตริตาภรณ์ช้างเผือก
- พ.ศ.๒๔๕๕ ทุติยจุลจอมเกล้า
- พ.ศ.๒๔๕๖ ทวีติยาภรณ์ช้างเผือก
- พ.ศ.๒๔๕๗ ประถมาภรณ์มงกุฎไทย
- พ.ศ.๒๔๕๘ ทุติยจุลจอมเกล้าวิเศษ
- พ.ศ.๒๔๖๐ ประถมาภรณ์ช้างเผือก
- พ.ศ.๒๔๖๘ ปฐมจุลจอมเกล้า
-
เหรียญและเข็ม
ได้รับพระราชทานเหรียญและเข็ม คือ
-
-
- พ.ศ.๒๔๓๖ เหรียญรัชฎาภิเศก
- พ.ศ.๒๔๔๐ เหรียญประพาศมาลา
- พ.ศ.๒๔๔๗ เหรียญทวีธาภิเศก ทอง
- พ.ศ.๒๔๕๐ เหรียญรัชมงคล ทอง
- พ.ศ.๒๔๕๑ เหรียญรัชมังคลาภิเศก
- พ.ศ.๒๔๕๒ เข็มพระชนมายุศม์
- พ.ศ.๒๔๕๓ เหรียญรัตนาภรณ์ ว.ป.ร. ชั้น ๓
- พ.ศ.๒๔๕๔ เหรียญบรมราชาภิเษก ร.๖ ทอง
- พ.ศ.๒๔๕๔ เข็มไอยราพต
- พ.ศ.๒๔๕๕ เข็มข้าหลวงเดิม
- พ.ศ.๒๔๕๗ เหรียญจักรพรรดิมาลา
- พ.ศ.๒๔๖๕ เหรียญรัตนาภรณ์ ว.ป.ร. ชั้น ๒
- พ.ศ.๒๔๖๘ เหรียญบรมราชาภิเษก ร.๗ ทอง
- พ.ศ.๒๔๙๓ เหรียญบรมราชาภิเษก ร.๘ ทอง
-
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงคุ้นเคยกับเจ้าพระยาสุรบดินทรสุรินทรฦาไชย จนสนิทชิดชอบในพระราชอัธยาศัย มาตั้งแต่ยังดำรงพระยศเป็นสมเด็จพระยุพราช ด้วยเจ้าพระยาสุรบดินทรสุรินทรฦาไชย ได้เคยจัดการรับเสด็จประพาสเมืองพระร่วง ในมณฑลพิษณุโลก ได้จัดการรับเสด็จพระราชดำเนินตลอดทางจนถึงกรุงเทพมหานคร และเมื่อครั้งเสด็จพระราชดำเนินเปิดทางรถไฟตอนอุตรดิตถ์ ก็ได้จัดการรับเสด็จอีกครั้งหนึ่ง ครั้นเมื่อเสด็จขึ้นครองราชสมบัติแล้ว เสด็จพระราชดำเนินสมโภชพระพุทธชินราช จังหวัดพิษณุโลก ก็ได้จัดการรับเสด็จเป็นที่พอพระราชหฤทัย ทรงประจักษ์แจ้งในความจงรักภักดีของเจ้าพระยาสุรบดินทรสุรินทรฦาไชยตลอดมา
เจ้าพระยาสุรบดินทรสุรินทรฦาไชย ได้รับพระราชทานให้ร่วมโต๊ะเสวยสมเด็จพระพันปีหลวง ในรัชกาลที่ ๖ เมื่อทรงบำเพ็ญพระราชกุศลพระชันษา ๔ รอบ ในฐานะพระสหชาติและได้รับพระราชทานสิ่งของที่ระลึกเป็นรูปตราหมู่ (ปีกุน) ครบชุด
ชีวิตในการปฏิบัติรับราชการนั้น เจ้าพระยาสุรบดินทรสุรินทรฦาไชย ได้ใช้สติปัญญาความสามารถกอร์ปด้วยความอุตสาหะวิริยะ มีความชอบความดีมาก เป็นที่นิยมรักใคร่ของประชาชน เมื่อสมัยเป็นสมุหเทศาภิบาลมณฑลพิษณุโลก ได้จัดการสอนให้ราษฎรทำมาหากินด้วยการปลูกฝ้าย ทอผ้า เลี้ยงสัตว์ เป็นต้น ให้นักโทษในเรือนจำสร้างเครื่องทอผ้าชนิดกี่กระตุกขึ้น ราษฎรผู้ใดทอได้ก็ให้รางวัล ๑ เครื่อง ได้จัดให้มีการประกวดกสิกรรมและหัตถกรรมขึ้นในมณฑล เมื่อสมัยเป็นอุปราชมณฑลพายัพ ท่านได้ใช้นโยบายการปกครอง มุ่งหน้าพัฒนาปรับปรุงการกสิกรรมและการเกษตรของประชาชนพลเมือง ได้นำพันธุ์สุกรดีๆ ไปให้ราษฎรเลี้ยง ให้ปลูกต้นหม่อนเพื่อใช้เลี้ยงไหมมากๆ อันจะได้ไหมทอผ้าแทนที่จะซื้อจากต่างประเทศ ได้ตั้งสวนทดลองขึ้นที่ตำบลแม่โจ้ ปลูกผักเมืองหนาว ให้เป็นตัวอย่างแก่ราษฎร สนับสนุนการปลูกข้าว ปรับปรุงการล้อมรั้วบ้าน การสร้างครกมอง หลวงข้าว เล้าไก่ เล้าหมู ให้ทำกันอย่างจริงจัง การปกครองของท่านนั้นใช้พระคุณมากกว่าพระเดช และวางตนให้เป็นที่ยำเกรงของผู้น้อย ด้านการบริหารอื่นๆ ในส่วนจังหวัดก็เรียบร้อย ข้าราชการทุกฝ่ายปฏิบัติงานอย่างเข้มแข็ง จริงจัง ซื่อสัตย์ สุจริต การปราบปรามโจรผู้ร้ายสงบและเบาบางลง เหตุร้ายอุกฉกรรจ์ไม่ค่อยมี ทางด้านการศึกษาก็ก้าวหน้าขึ้นเป็นลำดับ ลูกหลานชาวเชียงใหม่ได้เข้าเรียน “โรงเรียนยุพราชวิทยาลัย” มากขึ้น แม้ชนบทต่างจังหวัดก็ส่งเข้ามาเรียนในโรงเรียนแห่งนี้ ซึ่งสมัยนั้นเรียกว่า “โรงเรียนประจำมณฑลพายัพ” ในยุคของท่านนี้ได้ดำเนินตามพระราโชบายของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว แทบทุกอย่าง มีการแข่งขันฟุตบอล ทำให้ข้าราชการทหาร ตำรวจ และพลเรือนมีความสามัคคีกันดีมาก อันเป็นเหตุให้กีฬาฟุตบอลได้แพร่หลายในมณฑลพายัพแทบทุกจังหวัด นอกจากนั้น ยังจัดให้มีการแสดงละครพูดตามพระราโชบาย กล่าวได้ว่า กรุงเทพฯ ทำอย่างไร พระนครเชียงใหม่ก็ทำแบบนั้นทุกประการ
ในส่วนราชการเสือป่า เจ้าพระยาสุรบดินทรสุรินทรฦาไชย ได้สมัครเข้าเป็นสมาชิกแต่แรกตั้ง ได้เอาใจใส่ในหน้าที่อย่างดี ทำให้การดำเนินราชการทางเสือป่าเจริญมาเป็นลำดับ ได้ดำริวางแบบแผนในการฝึกหัดสั่งสอน ทั้งวางข้อบังคับลักษณะการปกครองในกองเสนาเรียบร้อยกว่าเดิม ทั้งรู้จักปลุกใจให้พลเรือนสมัครเข้าเป็นเสือป่าจำนวนมาก ท่านได้รับพระราชทานเลื่อนยศทางเสือป่ามาเป็นลำดับ
-
-
- พ.ศ.๒๔๕๕ เป็นนายหมู่ใหญ่ เสือป่า
- พ.ศ.๒๔๕๖ เป็นนายกองตรี เสือป่า
- พ.ศ.๒๔๕๘ เป็นนายกองโท เสือป่า
- พ.ศ.๒๔๕๙ เป็นนายกองเอก เสือป่า
- ๒ ธันวาคม ๒๔๖๑ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็นอัศวินแห่งเครื่องราชอิสริยาภรณ์ อันมีศักดิ์ รามาธิบดี
- ๓๐ ธันวาคม ๒๔๖๑ เป็นนายกองใหญ่ เสือป่า
- ๒๗ กุมภาพันธ์ ๒๔๖๖ เป็นนายพล เสือป่า (ผู้บัญชาการกองเสนารักษาดินแดน ภาคพายัพ) และราชองครักษ์
-
เจ้าพระยาสุรบดินทรสุรินทรฦาไชย มีภรรยา ๔ คน
-
-
- คุณแฉ่ง มีธิดา ๒ คน
- คุณหญิงบุญรอด (วัชราภัย) มีบุตร ๓ คน
- คุณหญิงเพิ่ม (จารุจินดา) มีบุตรธิดา ๒ คน
- คุณหญิงชอุ่ม (คุปตารักษ์) มีบุตรธิดา ๖ คน
-
เจ้าพระยาสุรบดินทรสุรินทรฦาไชย เมื่อออกจากราชการแล้ว พำนักอยู่ในกรุงเทพฯ ตลอดมา เมื่อวันที่ ๒๔ มกราคม ๒๔๙๘ เริ่มป่วยด้วยโรคหัวใจ ถึงกับลุกไม่ได้ อาการทรงกับทรุดเรื่อยมา เมื่อวันที่ ๑๔ สิงหาคม ๒๔๙๘ มีไข้สูง และได้ถึงแก่อนิจกรรมเมื่อวันที่ ๑๗ สิงหาคม ๒๔๙๘ สิริรวมอายุได้ ๙๑ ปี ๘ เดือน ๑๕ วัน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานน้ำหลวงอาบศพ พร้อมโกศแปดเหลี่ยม ฉัตรเบญจาตั้งประดับเกียรติยศ และได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเพลิงศพ ณ เมรุหลวงหน้าพลับพลาอิสริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส เมื่อวันที่ ๑๙ ตุลาคม ๒๔๙๘ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จพระราชดำเนินไปพระราชทานเพลิงศพ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานผ้าไตรของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ๕ ไตร และของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ๕ ไตร ให้ทายาทนำไปทอดที่โกศศพ พระสงฆ์ ๑๐ รูปบังสุกุล เสร็จแล้วทรงจุดฝักแคพระราฃทานเพลิง