พลโท พลเรือตรี พระยาเทพอรชุน (เจ๊ก จารุจินดา)


พลโท พลเรือตรี พระยาเทพอรชุน (เจ๊ก จารุจินดา) เป็นบุตรของ พระยาเพชรพิไชย (ทองจีน จารุจินดา) และคุณหญิงเย็น เพชรพิไชย (เกตุทัต) เกิดเมื่อวันที่ ๒๙ กรกฎาคม พ.ศ.๒๓๙๕ มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน ๑๐ คน มีพี่น้องร่วมบิดา ๑ คน

การศึกษา

เมื่ออายุ ๑๐ ปี ท่านบิดาได้จ้างครูมาสอนหนังสือไทยที่บ้าน และเล่าเรียนในการช่างทองในสำนักของท่านบิดาด้วย

การรับราชการ

      • พ.ศ.๒๔๐๙ ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว อายุ ๑๕ ปี ได้ถวายตัวเป็นมหาดเล็กวิเศษ ทำราชการสนองพระเดชพระคุณอยู่ในเวรศักดิ์
      • พ.ศ.๒๔๑๒ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ไปหัดทวนหัวง้าวหลังม้าที่สำนักพระราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสิงหนารถ เป็นคู่ทวนคู่ง้าวกับเจ้าพระยาเทเวศร์วงษ์วิวัฒน์ (ม.ร.ว.หลาน กุญชร) ฝึกหัดอยู่ประมาณ ๑๐ เดือน ได้ออกงานถวายตัวในการพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่สนามหน้าพลับพลาพระเมรุ ท้องสนามหลวง ทุกวันตลอดงาน
      • เมษายน ๒๔๑๓ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ฝึกหัดวิชาทหารเป็นทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ ได้เข้าฝึกหัดในสำนัก นายพันตรี หลวงรัตนรณยุพธ์ และมิสเตอร์เบิค ชาวอังกฤษ ฝึกหัดอยู่หลายเดือน จึงเข้ารับราชการเป็นทหารมหาดเล็ก หมู่ที่ ๑ ต่อมาทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เลื่อนยศเป็นนายสิบเอก (พระราชทานหีบถม ๑ หีบ) ได้ตามเสด็จพระราชดำเนินพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวประพาสเมืองสิงคโปร์ เมืองเบตาเวีย และเมืองสมารัง (ชวา) เมื่อ ๙ มีนาคม ๒๔๑๓ – ๑๕ เมษายน ๒๔๑๔
      • ๕ สิงหาคม ๒๔๑๔ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานสัญญาบัตร เลื่อนตำแหน่งยศเป็นนายร้อยตรี หลวงสรจักรานุกิจ ถือศักดินา ๖๐๐ บังคับกองร้อยที่ ๓ ในกรมทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ (ได้รับพระราชทานเครื่องยศ โต๊ะถม ๑ กาถม ๑ กระโถน ๑ และลองปักล่องจวน ๑ พก)
      • ๑๖ ธันวาคม ๒๔๑๔ – ๑๖ มีนาคม ๒๔๑๕ ได้ตามเสด็จพระราชดำเนินพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประพาสอินเดีย ได้แวะเมืองสิงคโปร์ เกาะปีนัง และเมืองร่างกุ้ง (พม่า) รวมทั้งหัวเมืองขึ้น ขอบขัณฑสีมาของกรุงสยามชายฝั่งทะเลตะวันตก
      • มิถุนายน ๒๔๑๖ ได้กราบถวายบังคมลาอุปสมบทเป็นภิกษุ ที่วัดราชบพิตรสถิตมหาสีมาราม สมเด็จพระวันรัต (ทับ) เป็นพระอุปัชฌายะ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอรุณนิภาคุณาภรณ์ และสมเด็จพระสังฆราช (สา) เป็นพระอนุกรรมวาจา ได้ลาสิกขาเมื่อ ๑๙ ตุลาคม ๒๔๑๖ กลับเข้ารับราชการสนองพระเดชพระคุณในตำแหน่งเดิม
      • ๙ พฤศจิกายน ๒๔๑๖ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานสัญญาบัตร เลื่อนตำแหน่งยศให้เป็นนายร้อยโท จมื่นวิชิตไชยศักดาวุธ คงบังคับการในกองร้อยที่ ๓ ตามเดิม ภายหลังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ยกทั้งกองร้อยที่ ๓ ไปฝึกหัดรับราชการเป็นมหาดเล็กรักษาพระองค์ปืนแคตริงตัน
      • พ.ศ.๒๔๑๘ ทราบว่าจะโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาภูธราภัย ที่สมุหนายก จัดยกทัพขึ้นไปปราบปรามพวกฮ่อตามหัวเมืองชายพระราชอาณาจักร พระยาเทพอรชุนจึงได้คิดทำกระติกเหล็กวิลาสเป็น ๒ ชั้น ชั้นบนสำหรับใส่น้ำ ชั้นล่างสำหรับใส่ของบริโภค หนึ่งหมื่นกระติกขึ้นทูลเกล้าถวาย เพื่อจะได้พระราชทานแก่กองทัพซึ่งจะขึ้นไปราชการทัพทั่วทุกคน
      • ๑๗ สิงหาคม ๒๔๑๘ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราฃทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎสยาม ชั้นที่ ๔ (วิจิตราภรณ์) เป็นบำเหน็จความชอบในการที่คิดทำกระติกเหล็กวิลาสขึ้นทูลเกล้าในครั้งนั้น
      • ๓ พฤษภาคม ๒๔๒๓ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติมงกุฎสยาม ชั้นที่ ๔ (ภัทราภรณ์) และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็นทหารสำหรับสำนักทูต ออกไปราชการด้วยท่านเจ้าพระยาภาณุวงศ์มหาโกษาธิบดี ซึ่งเป็นเอกอัครราชทูต ออกไปราชการประเทศฝรั่งเศสและประเทศอังกฤษ
      • ๑๙ มิถุนายน ๒๔๒๘ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานสัญญาบัตรให้เป็นนายพันตรี พระวรเดชศักดาวุธ ในกรมทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ ถือศักดินา ๑๕๐๐
      • ๘ เมษายน ๒๔๓๐ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานสัญญาบัตรให้เป็นเจ้าพนักงานผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบกที่ ๒ เมื่อครั้งแรกตั้งกรมยุทธนาธิการเดิมนั้น
      • ๒๑ ธันวาคม ๒๔๓๑ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎสยาม ชั้น ๓ (มัณฑนาภรณ์) และโปรดเกล้าฯ ให้ออกไปตรวจราชการทหารที่ประเทศญี่ปุ่น พร้อมด้วยท่านเจ้าพระยาภาษกรวงศ์ เอกอัครราชทูตพิเศษ ซึ่งออกไปเจริญทางพระราชไมตรีครั้งนั้น ออกจากกรุงเทพฯ เมื่อ ๒๘ ธันวาคม ๒๔๓๑ กลับถึงกรุงเทพฯ เมื่อ ๑๓ มีนาคม ๒๔๓๒
      • พ.ศ.๒๔๓๑ จัดราชการตั้งกองทหารม้าหลวงใหม่ โปรดเกล้าฯ ให้ไปเป็นผู้บังคับการกองทหารม้า จัดราชการได้เรียบร้อยเป็นคราวแรก แล้วจึงกลับมารับราชการตำแหน่งเดิม
      • ๖ กรกฎาคม ๒๔๓๑ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานสัญญาบัตรให้เป็นนายพันเอกทหารบก
      • พ.ศ.๒๔๓๓ ตั้งกรมยุทธนาธิการใหม่ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้รับราชการในตำแหน่ง ยกกระบัตรใหญ่ในกรมทหารบก
      • พ.ศ.๒๔๓๕ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้รับราชการในตำแหน่งเจ้ากรมยุทธภัณฑ์
      • ๓ กันยายน ๒๔๓๕ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานสัญญาบัตรให้เป็นนายพลจัตวาทหารบก
      • ๑๕ พฤศจิกายน ๒๔๓๕ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานสัญญาบัตรให้เป็นพระยาวรเดชศักดาวุธ
      • ๓๑ ธันวาคม ๒๔๓๕ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเชิดชูยิ่งช้างเผือกสยาม ชั้น ๔ (ภูษนาภรณ์)
      • ๒๐ มีนาคม ๒๔๓๖ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็นองคมนตรี
      • ๒ ตุลาคม ๒๔๓๖ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเหรียญรัชฎาภิเศกมาลา
      • ๒ ธันวาคม ๒๔๓๖ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฏสยาม ชั้นที่ ๒ (จุลสุราภรณ์) ในการรัชฎาภิเศก
      • ๘ ธันวาคม ๒๔๓๖ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเหรียญจักรมาลา โดยที่ได้รับราชการสนองพระเดชพระคุณอยู่ในกรมทหาร ตั้งแต่เป็นพลทหารและเลื่อนตำแหน่งยศจนถึงนายพลจัตวา รวมปีที่รับราชการอยู่ในกรมทหารได้ ๒๔ ปี ไม่มีความผิด
      • ๒๔ มกราคม ๒๔๓๗ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็นรัฐมนตรี
      • ๑๐ ตุลาคม ๒๔๓๘ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็นกรรมการตรวจตัดสินที่นาในระหว่างข้าราชการ บริษัท และราษฎรวิวาทกัน
      • ๑๖ พฤศจิกายน ๒๔๓๘ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า ชั้นที่ ๒ (ทุติยะจุลจอมเกล้า) และพระราชทานพานทองด้วย
      • พฤษภาคม ๒๔๔๐ มีพระราชเสาวณีย์โปรดเกล้าฯ ให้ออกไปเป็นข้าหลวงเทศาภิบาลสำเร็จราชการ มณฑลปราจีนบุรี
      • ๒ มิถุนายน ๒๔๔๐ พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นดำรงราชานุภาพ นำเฝ้ากราบทูลลาไปรับตำแหน่งข้าหลวงเทศาภิบาลสำเร็จราชการ มณฑลปราจีนบุรี
      • ๒๔ มกราคม ๒๔๔๑ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ทุติยะจุลจอมเกล้าวิเศษ
      • ๑๓ กันยายน ๒๔๔๑ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเหรียญมาลา
      • ๒๑ กันยายน ๒๔๔๑ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานสัญญาบัตรเลื่อนตำแหน่งยศทหารให้เป็นนายพลตรีทหารบก ขึ้นอยู่ในกรมยุทธนาธิการ และเป็นราชองครักษ์พิเศษด้วย ในวันเดียวกันนี้ สมเด็จพระนางเจ้า พระบรมราชินีนาถ โปรดเกล้าฯ พระราชทานเหรียญบรมราชินี
      • สิงหาคม ๒๔๔๒ กระทรวงมหาดไทยรับพระบรมราชโองการให้ไปรับราชการตำแหน่งข้าหลวงเทศาภิบาลสำเร็จราชการ มณฑลราชบุรี (สืบแทนเจ้าพระยาสุรพันธ์ ซึ่งทุพพลภาพ กราบถวายบังคมลาออกจากราชการ)
      • ๒๐ กันยายน ๒๔๔๒ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเหรียญจักรพรรดิมาลา เพื่อเป็นที่ระลึกในการที่ได้รับพระราชทานสัญญาบัตรครั้งแรก นับมาได้ ๒๘ ปีมาแล้ว
      • ๑๙ ตุลาคม ๒๔๔๒ ได้กราบถวายบังคมลาไปรับราชการตำแหน่งข้าหลวงเทศาภิบาลสำเร็จราชการ มณฑลราชบุรี
      • ๑ สิงหาคม ๒๔๔๔ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานสัญญาบัตรเลื่อนตำแหน่งยศให้เป็นนายพลโททหารบก คงรับตำแหน่งในหน้าที่ข้าหลวงเทศาภิบาลสำเร็จราชการ มณฑลราชบุรี
      • ๓๐ มกราคม ๒๔๔๕ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานสัญญาบัตรให้เป็นพระยาเทพอรชุนวิบุลยเสนานุกูลกิจวิสิฐภักดีพิริยพาห ปลัดทูลฉลองกระทรวงกลาโหม ถือศักดินา ๔๐๐๐ และให้กลับเข้ารับราฃการในกระทรวงกลาโหม พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎสยาม ชั้นที่ ๑ (มหาสุราภรณ์) (ในโอกาสนี้ท่านเห็นเป็นสิริมงคล จึงตั้งชื่อหลานปู่คนแรกซึ่งเพิ่งเกิดของท่านว่า “เทพ” ต่อมาเป็นร้อยโทขุนเทพสรสิทธิ์)

เครื่องราชอิสริยาภรณ์

      • ๓ ตุลาคม ๒๔๔๖ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเหรียญทวีธาภิเศก
      • ธันวาคม ๒๔๔๖ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็นพระยายืนชิงช้า ปี พ.ศ.๒๔๔๖
      • ๒๔ กุมภาพันธ์ ๒๔๔๗ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ไปเป็นผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารเรือชั่วคราว แต่ยังคงดำรงตำแหน่งปลัดทูลฉลองกระทรวงกลาโหม
      • ๑๑ พฤษภาคม ๒๔๔๗ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานสัญญาบัตรให้เป็นนายพลเรือตรี รับราชการในกรมทหารเรือ
      • ๒๓ ตุลาคม ๒๔๔๗ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลที่ ๔ ชั้นที่ ๕ โดยที่ได้ทำราชการเป็นมหาดเล้กในเวลาโน้น
      • ๒๒ พฤศจิกายน ๒๔๕๐ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเข็มอักษรในการเสด็จพระราชดำเนินประพาสยุโรป (ครั้งนี้สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้ากรมขุนนครสวรรค์วรพินิจ ผู้บัญชาการทหารเรือได้ตามเสด็จฯ ฉะนั้นพระยาเทพอรชุน ในตำแหน่งปลัดทูลฉลองฯ จึงต้องเข้าประขุมที่ประชุมเสนาบดีแทนในฐานะผู้บัญชาการทหารเรือ)
      • ๓๐ พฤศจิกายน ๒๔๕๐ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเหรียญรัชมงคล
      • ๗ พฤศจิกายน ๒๔๕๑ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเหรียญรัชมังคลา
      • ๑๑ พฤศจิกายน ๒๔๕๑ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์ ชั้นที่ ๓ ต่อมาในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานตราตั้งให้เป็นองคมนตรี
      • ๒๓ ธันวาคม ๒๔๕๓ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ยกเลิกตำแหน่งผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารเรือ และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็นปลัดทูลฉลองกระทรวงทหารเรือ
      • ๓๑ ธันวาคม ๒๔๕๓ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเชิดชูยิ่งช้างเผือก ชั้นที่ ๑ (มหาวราภรณ์)
      • ๘ เมษายน ๒๔๕๔ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ปลดออกจากทะเบียนประจำการ ให้อยู่ในแผนกนายทหารรับพระราชทานเงินเลี้ยงชีพ
      • ๗ กุมภาพันธ์ ๒๔๕๕ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเหรียญพระบรมราชาภิเศกกาหลั่ยทอง

พระยาเทพอรชุน มีภรรยา ๔ คน

      1. คุณหญิงสาย (จารุจินดา) มีบุตรและธิดา ๓ คน
      2. คุณอบเชย ไม่มีบุตรและธิดา
      3. คุณชื่น ไม่มีบุตรและธิดา
      4. ม.ล.หญิง จวง (ปาลกะวงศ์) มีธิดา ๑ คน

พระยาเทพอรชุน ป่วยเป็นวัณโรค ถึงแก่อนิจกรรมเมื่อวันที่ ๕ สิงหาคม ๒๔๕๖ รวมสิริอายุ ๖๒ ปี ๘ วัน ได้รับพระราชทานโกศทรงศพเป็นเกียรติยศ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จพระราชดำเนินไปพระราชทานเพลิงศพ ณ วัดราชาธิวาส กรุงเทพฯ ในปีเดียวกันนั้นเอง

Scroll to Top