ศาสตราจารย์ โชค จารุจินดา เป็นบุตรของ เจ้าพระยาสุรบดินทรสุริทรฦาไชย ( พร จารุจินดา ) และคุณหญิงชอุ่ม สุรบดินทรสุริทรฦาไชย ( คุปตารักษ์ ) เกิดเมื่อวันที่ ๒๘ พฤศจิกายน ๒๔๕๕ มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน ๕ คน พี่น้องร่วมบิดา ๗ คน
การศึกษา
-
-
- พ.ศ. ๒๔๖๓ เข้าเรียนโรงเรียนมัธยมวัดบพิตรพิมุข จนถึง พ.ศ. ๒๔๖๕ สอบไล่ได้ชั้นประถมศึกษาปีที่ ๓
- พ.ศ. ๒๔๖๖ เข้าเรียนโรงเรียนมัธยมบ้านสมเด็จเจ้าพระยา สอบไล่ได้ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๕ ใน พ.ศ. ๒๔๗๐
- พ.ศ. ๒๔๗๑ เข้าโรงเรียนสวนกุหลายวิทยาลัย สอบไล่ได้ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๘ ใน พ.ศ. ๒๔๗๓
- พ.ศ. ๒๔๗๔ เข้าเรียนกฎหมายในโรงเรียนกฎหมาย กระทรวงยุติธรรม จนถึง พ.ศ. ๒๔๗๖ สอบไล่ได้สำเร็จ ๓ ภาค ได้ที่ ๑ และขั้นที่ ๑ ได้รับเกียรติยศเป็นเนติบัณฑิตย์ไทย
-
การรับราชการ
เริ่มเข้ารับราชการตำแหน่งอัยการฝึกหัด กรมอัยการ กระทรวงมหาดไทย เมื่อวันที่ ๑ พฤศจิกายน ๒๔๗๗ ลำดับตำแหน่งหน้าที่ราชการ มีดังนี้
-
-
- ๑ พฤศจิกายน ๒๔๗๘ อัยการผู้ช่วยกองคดี กรมอัยการ – ชั้นที่ ๒
- ๑ กันยายน ๒๔๗๙ อัยการผู้ช่วยกองคดี กรมอัยการ – ชั้นที่ ๑
- ๑ เมษายน ๒๔๘๒ อัยการผู้ช่วยกองคดี กรมอัยการ – ตรี อันดับ ๓
- ๑ มกราคม ๒๔๘๓ พนักงานสหกรณ์ตรี กรมสหกรณ์ กระทรวงเกษตราธิการ – ตรีอันดับ ๓
- ๑๕ พฤษภาคม ๒๔๘๓ อัยการผู้ช่วยกองคดี กรมอัยการ
- ๑ เมษายน ๒๔๘๔ อัยการผู้ช่วยชั้นโท จังหวัดสุราษฎร์ธานี
- ๑๕ กรกฎาคม ๒๔๘๔ โอนไปเป็นผู้พิพากษาในกระทรวง รับราชการศาลแพ่ง กระทรวงยุติธรรม
- ๑๒ มกราคม ๒๔๘๕ ช่วยราชการในตำแหน่งผู้พิพากษาศาลจังหวัดยะลา
- ๒๐ มิถุนายน ๒๔๘๕ รับราชการศาลแพ่ง
- ๑๑ กันยายน ๒๔๘๕ รับราชการศาลอาญา
- ๑๓ พฤษภาคม ๒๔๘๖ ผู้พิพากษาจังหวัดแม่สอด เป็นข้าราชการตุลาการชั้นโท
- ๑๘ มิถุนายน ๒๔๙๐ ผู้พิพากษาจังหวัดนครสวรรค์
- ๑๔ พฤษภาคม ๒๔๙๔ ผู้พิพากษาศาลแขวงพระนครใต้
- ๑ มกราคม ๒๔๙๖ ผู้พิพากษาศาลแขวงพระนครใต้ เป็นข้าราชการตุลาการชั้นเอก
- ๑๘ พฤษภาคม ๒๔๙๗ ผู้พิพากษาจังหวัดน่าน
- ๒๓ มกราคม ๒๔๙๘ ผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์
- ๑ มกราคม ๒๕๐๑ ผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ ข้าราชการตุลาการชั้น ๑
- ๑ มกราคม ๒๕๐๕ ผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
- ๑๕ ตุลาคม ๒๕๐๘ ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลอุทธรณ์
- ๑๕ ตุลาคม ๒๕๑๐ พิพากษาศาลฎีกา
- ๑๕ มกราคม ๒๕๑๒ อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา
- ๑ มกราคม ๒๕๑๕ รองประธานศาลฎีกา
- ๑ ตุลาคม ๒๕๑๖ ลาออกจากราชการ เพื่อรับบำเหน็จบำนาญเหตุเพราะรับราชการมานาน
-
หลังออกจากราชการแล้ว มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งต่าง ๆ ดังนี้
-
-
- ๒๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๑๘ ศาสตราจารย์พิเศษ มหาวิทยาลัยรามคำแหง
- ๑๖ เมษายน ๒๕๑๘ ศาสตราจารย์พิเศษ ในสาขาวิชานิติศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- ๑๖ กันยายน ๒๕๑๘ กรรมการรับเรื่องราวร้องทุกข์ สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี
- ๓๑ พฤษภาคม ๒๕๑๙ ตุลาการรัฐธรรมนูญ สภานิติบัญญัติ
- ๒๓ มีนาคม ๒๕๒๐ ประธานกรรมการป้องกันและปราบปรามทุจริต และประพฤติมิ ชอบในวงราชการ (ป.ป.ป.) ติดต่อกัน ๒ สมัย
-
เครื่องราชอิสริยาภรณ์และเหรียญ
-
-
- ๒๖ พฤษภาคม ๒๔๗๘ เหรียญพิทักษ์รัฐธรรมนูญ
- ๒๐ กันยายน ๒๔๘๔ เบญจมาภรณ์ช้างเผือก
- ๔ ธันวาคม ๒๔๙๑ จตุรถาภรณ์มงกุฎไทย
- ๕ พฤษภาคม ๒๔๙๓ เหรียญบรมราชาภิเษก เงิน
- ๔ ธันวาคม ๒๔๙๓ จตุรถาภรณ์ช้างเผือก
- ๕ พฤษภาคม ๒๔๙๖ ตติยจุลจอมเกล้า ( สืบสกุลเจ้าพระยาสุรบดินทรสุรินทรฦาไชย )
- ๕ ธันวาคม ๒๔๙๘ ตริตาภรณ์มงกุฎไทย
- ๕ ธันวาคม ๒๕๐๐ ตริตาภรณ์ช้างเผือก
- ๕ ธันวาคม ๒๕๐๒ เหรียญจักรพรรดิมาลา
- ๕ ธันวาคม ๒๕๐๖ ทวีติยาภรณ์มงกุฎไทย
- ๕ ธันวาคม ๒๕๐๘ ทวีติยาภรณ์ช้างเผือก
- ๕ ธันวาคม ๒๕๑๑ ประถมาภรณ์มงกุฎไทย
- ๕ ธันวาคม ๒๕๑๒ ทุติยจุลจอมเกล้า
- ๕ ธันวาคม ๒๕๑๓ ประถมาภรณ์ช้างเผือก
- ๕ ธันวาคม ๒๕๑๕ มหาวชิรมงกุฎ
- ๕ ธันวาคม ๒๕๑๙ มหาปรมาภรณ์ช้างเผือก
-
ตำแหน่งพิเศษ
-
-
- พ.ศ. ๒๕๐๐ เป็นกรรมการในการสอบแข่งขันวิชาการข้าราชการพลเรือน
- พ.ศ. ๒๕๐๑ เป็นผู้บรรยายกฎหมายลักษณะล้มละลายและการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
- พ.ศ. ๒๕๐๒ เป็นกรรมการหน่วยวิทยาการของกระทรวงยุติธรรม
- พ.ศ. ๒๕๐๒ เป็นกรรมการสอบความรู้กฎหมายในสำนักกฎหมายของเนติบัณฑิตยสภา
- พ.ศ. ๒๕๐๒ เป็นผู้สอบกฎหมายลักษณะอาญาในแผนกนิติรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- พ.ศ. ๒๕๐๒ เป็นผู้อบรมผู้ช่วยผู้พิพากษา รุ่นที่ ๔ และ ๕
- พ.ศ. ๒๕๐๓ เป็นเลขานุการและกรรมการ ก.ต. ( คณะกรรมการตุลาการ )
- พ.ศ. ๒๕๐๕ เป็นกรรมการปรับปรุงประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
- พ.ศ. ๒๕๐๒ เป็นผู้สอนกฎหมาย สำนักอบรมศึกษากฎหมาย เนติบัณฑิต
- พ.ศ. ๒๕๒๐ กรรมการชำระสะสางประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยครอบครัว
-
ศาสตราจารย์ โชค จารุจินดา ได้รับพระราชทานปริญญานิติศาสตร์ดุษฎีบัณฑิต จาก จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อ ๑๗ มีนาคม ๒๕๒๐
นอกจากปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งต่างๆ ภายหลังจากลาออกจากราชการแล้ว ท่านยังได้อุทิศตนเพื่อการสอนกฎหมายตามมหาวิทยาลัยและวิทยาลัยหลายแห่งตลอดมา แม้วันเสาร์ วันอาทิตย์ และวันหยุดราชการ ก็เปิดสอนเป็นวิทยาทานแก่บรรดาศิษย์ผู้สนใจ ซึ่งได้ติดตามมาเรียนพิเศษที่บ้านเป็นประจำ นอกจากนั้นท่านยังได้เขียนตำรากฎหมายไว้หลายเล่ม เป็นต้นว่า คำอธิบายประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ว่าด้วยครอบครัว คำอธิบายประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยมรดก คำอธิบายประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ว่าด้วยพินัยกรรม คำอธิบายกฎหมายลักษณะล้มละลาย คำอธิบายกฎหมายลักษณะอาญา คำอธิบายกฎหมายพระธรรมนูญศาล
ศาสตราจารย์ โชค จารุจินดา มีภรรยา ๒ คน
-
-
- คุณหญิงกัลยา ( จารุจินดา ) – ไม่มีบุตรและธิดา
- คุณส่งศรี – มีบุตรและธิดา ๒ คน
-
จากการทุ่มเททั้งกำลังกายและกำลังใจทำงานหลายๆ ด้าน เพื่อประโยชน์ต่อสังคมและผู้อื่นตลอดมา เป็นเหตุให้สุขภาพซึ่งไม่ค่อยจะสมบูรณ์นัก ทรุดโทรมลง เริ่มอาการหอบเหนื่อยเป็นครั้งคราวเวลาพูด และรุนแรงขึ้นเป็นลำดับ เมื่อวันที่ ๗ พฤษภาคม ๒๕๒๖ เริ่มรับประทานอาหารไม่ได้ อาการทรุดลง จึงได้นำเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ในวันรุ่งขึ้น และต้องอยู่ในห้อง ไอ.ซี.ยู. มาโดยตลอด จนกระทั่งถึงแก่อนิจกรรมด้วยโรคถุงลมในปอดโป่งพอง มีเลือดออกในทางเดินอาหารและภาวะไตวาย เมื่อวันที่ ๑๗ มิถุนายน ๒๕๒๖ รวมสิริอายุได้ ๗๑ ปี ๕ เดือน ๑๑ วัน
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานน้ำหลวงอาบศพพร้อมโกศแปดเหลี่ยม ฉัตรเบญจาและเครื่องประกอบเกรียติยศ พระราชทานพระบรมราชานุเคราะห์ พระพิธีธรรมสวดอภิธรรมมีกำหนด ๓ วัน และได้รับพระราชทานเพลิง เมื่อ วันที่ ๖ กันยายน ๒๕๒๖ ณ เมรุวัดธาตุทอง และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานผ้าไตร จำนวน ๕ ไตร ทอดถวายพระสงฆ์บังสุกุลด้วย