พลตรีมณีรัตน์ จารุจินดา เป็นบุตร ร้อยเอกก้อน จารุจิน และคุณทองมาก จารุจินดา (เกิดใหม่) เกิดเมื่อวันที่ ๓ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๖๑ มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน ๗ คน
การศึกษา
-
-
- พ.ศ. ๒๔๖๖ โรงเรียนวัดคีร์ษะละเลิง จังหวัดนครราชสีมา
- พ.ศ. ๒๔๖๘ โรงเรียนประชาบาลวัดหลักร้อย จังหวัดนครราชสีมา ใช้เวลาเรียน ๓ ปี ได้รับประกาศนียบัตรประโยคประถมศึกษา
- พ.ศ. ๒๔๗๑ โรงเรียนประจำจังหวัดนครราชสีมา ใช้เวลาเรียน ๗ ปี จบชั้นพาณิชยการจังหวัด
- พ.ศ. ๒๔๗๘ โรงเรียนพาณิชยการวัดสามพระยา จังหวัดพระนคร ใช้เวลาเรียน ๒ ปี ได้รับประกาศนียบัตรชั้นมัธยมบริบูรณ์
- พ.ศ. ๒๔๘๑ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง ได้รับปริญญาบัตร ธรรมศาสตร์บัณฑิต เมื่อปี ๒๔๘๙
-
การรับราชการ
-
-
- ๑๖ สิงหาคม ๒๔๘๑ เสมียนแผนกรวบรวมบัญชี กรมไปรษณีย์โทรเลข กระทรวงเศรษฐการ
- ๑ กรกฎาคม ๒๔๘๘ โอนมาเป็นเสมียนกรมสารวัตรทหาร กระทรวงกลาโหม
- ๒๑ มีนาคม ๒๔๙๐ ผู้ช่วยฝ่ายพระธรรมนูญ กรมสารวัตรทหาร
- ๑๔ ตุลาคม ๒๔๙๑ เข้าประจำกองกลาง กรมพระธรรมนูญ กระทรวงกลาโหม
- ๒๖ พฤศจิกายน ๒๔๙๑ เป็นผู้ช่วยอัยการศาล มณฑลทหารบกที่ ๓
- ๖ มีนาคม ๒๔๙๖ เป็นร้อยโท ในตำแหน่งนายทหารพระธรรมนูญกองทพทหารบกที่ ๓ (ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น กองพลทหารราบที่ ๓ )
- ๑ มกราคม ๒๔๙๗ เป็นร้อยเอก ในตำแหน่งผู้รักษาพระธรรมนูญ ( ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น ตุลาการพระธรรมนูญ) ศาลทหารกรุงเทพ กรมพระธรรมนูญ
- ๑ มกราคม ๒๕๐๐ เป็นพันตรี ในตำแหน่งหัวหน้าแผนกตรวจและร่างกฎหมาย กองกฤษฎีกา ทหาร กรมพระธรรมนูญ
- ๑ ตุลาคม ๒๕๐๔ เป็นพันตรี ในตำแหน่งตุลาการพระธรรมนูญศาลทหารกรุงเทพฯ กรม พระธรรมนูญ
- ๑ ตุลาคม ๒๕๐๗ เป็นพันเอก ในตำแหน่งหัวหน้าตุลาการพระธรรมนูญศาลทหารกรุงเทพฯ กรมพระธรรมนูญ
- ๑ มีนาคม ๒๕๑๕ เป็นพันเอก (พิเศษ) ในตำแหน่งตุลาการพระธรรมนูญศาลทหารสูงสุด
- ๑ ตุลาคม ๒๕๒๐ มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้เป็นพลตรี ในตำแหน่ง ผู้ชำนาญการกฎหมาย กรมพระธรรมนูญ (ปัจจุบัน เปลี่ยนชื่อเป็น ผู้ช่วย เจ้ากรมพระธรรมนูญ)
- ๓๐ กันยายน ๒๕๒๑ เป็นนายทหารนอกราชการเพื่อรับบำเหน็จบำนาญสังกัดสำนักงาน ปลัดกระทรวงกลาโหม เพราะรับราชการมาครบกำหนดเกษียณอายุ
-
การปฏิบัติราชการสงครามและราชการพิเศษ
-
-
- พ.ศ. ๒๕๑๕ – ๒๕๑๗ เป็นตุลาการศาลอาญาศึก หน่วยผสม ๓๓๓
- พ.ศ. ๒๕๑๙ เป็นกรรมการเจ้าหน้าที่ทำงานฝ่ายกฎหมายและร่างรัฐธรรมนูญ
- พ.ศ. ๒๕๑๙ เป็น สมาชิกสภาปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน
- พ.ศ. ๒๕๑๙ – ๒๕๒๑ เป็น ที่ปรึกษากฎหมายของนายกรัฐมนตรี ( ฯพณฯ ธานินทร์ กรัยวิเชียร )
- พ.ศ. ๒๕๑๙ – ๒๕๒๑ เป็น กรรมการพิจารณากฎหมายของนายกรัฐมนตรี
- พ.ศ. ๒๕๒๐ เป็น สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ
- พ.ศ. ๒๕๒๑ เป็น กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ
- พ.ศ. ๒๕๒๑ เป็น กรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ
- พ.ศ. ๒๕๒๑ เป็น กรรมาธิการวิสามัญวินิจฉัยร่างพระราชบัญญัติ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ
- พ.ศ. ๒๕๒๔ เป็น กรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาการขอแก้ไขรัฐธรรมนูญของสภาผู้แทนราษฎร
- พ.ศ. ๒๕๒๒ – ๒๕๒๖ เป็นกรรมการของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริต และประพฤติมิชอบในวงราชการ
- พ.ศ. ๒๕๒๒ – ๒๕๒๖ เป็น อนุกรรมการคณะกรรมการข้าราชการพลเรือนฝ่ายอุทธรณ์และร้องทุกข์
- พ.ศ. ๒๕๒๒ – ๒๕๒๖ เป็น กรรมการร่างกฎหมาย (คณะพิเศษ) พิจารณา ร่างพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครอง
- พ.ศ. ๒๔๙๐ เป็น กรรมการร่างกฎหมาย คณะกรรมการกฤษฎีกา
- พ.ศ. ๒๔๙๐ เป็น กรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์ คณะกรรมการกฤษฎีกา
-
เครื่องราชอิสริยาภรณ์
-
-
- พ.ศ. ๒๔๙๘ เบญจมาภรณ์ช้างเผือก
- พ.ศ. ๒๕๐๐ จตุรถาภรณ์มงกุฎไทย
- พ.ศ. ๒๕๐๔ จตุรถาภรณ์ช้างเผือก
- พ.ศ. ๒๔๐๖ ตริตาภรณ์มงกุฎไทย
- พ.ศ. ๒๕๐๗ เหรียญจักรพรรดิมาลา
- พ.ศ. ๒๕๐๗ เหรียญชัยสมรภูมิ
- พ.ศ. ๒๕๐๘ ตริตาภรณ์ช้างเผือก
- พ.ศ. ๒๕๑๕ ทวีติยาภรณ์มงกุฎไทย
- พ.ศ. ๒๕๑๗ ทวีติยาภรณ์ช้างเผือก
- พ.ศ. ๒๕๒๑ ประถมาภรณ์มงกุฎไทย
- พ.ศ. ๒๕๒๓ ประถมาภรณ์ช้างเผือก
- พ.ศ. ๒๕๒๖ มหาวชิรมงกุฎ
- พ.ศ. ๒๕๓๒ มหาปรมาภรณ์ช้างเผือก
-
ชีวิตของ พลตรีมณีรัตน์ จารุจินดา เป็นชีวิตที่ “สายสกุล จารุจินดา” น่าจะภูมิใจเป็นอย่างยิ่ง เพราะท่านได้สร้างเกียรติคุณไว้อย่างน่าปลื้มใจ ในระยะเยาว์วัย ท่านได้ศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์และการเมืองนั้น ท่านต้องใช้ชีวิตอยู่ด้วยความมานะอดทนต่อสู้กับความยากลำบาก ในครั้งแรกท่านเข้ามาพักอาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ ต่อมาเกิดสงคราม ญาติผู้ใหญ่อพยพไปอยู่ต่างจังหวัด ท่านต้องเฝ้าบ้านอยู่คนเดียว หลังจากนั้นย้ายที่อยู่ไปพักอาศัยที่อื่น ขณะเดียวกันท่านต้องทำงาน พร้อมกับเรียนหนังสือ ในเวลากลางวันจึงไม่มีโอกาสไปนั่งเรียนหนังสือเหมือนคนอื่น จำเป็นต้องหาตำรา มาอ่านด้วยตนเองในเวลากลางคืน เงินทองที่ได้จากการทำงาน นอกจากเป็นค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันแล้ว ยังต้องเจียดมาจ่ายเป็นค่าตำราเพื่อให้เรียนรู้เท่าทันคนอื่น ทำให้ไม่มีโอกาสเที่ยวเตร่หรือใช้จ่ายเพื่อความสนุกสนานของตนเองได้ ด้วยเหตุที่ท่านมีความลำบากในการต้องขวนขวายเล่าเรียนจนกว่าจะจบ ท่านจึงได้ตั้งปฏิธานว่า ถ้ามีลูกหลานก็จะไม่ยอมให้ลูกหลานต้องประสบความลำบากเช่นเดียวกับท่านเป็นอันขาด ท่านจึงพยายามส่งเสริมลูกหลานให้ได้เล่าเรียนตามที่ต้องการ โดยไม่ต้องมาพะวงกับค่าใช้จ่าย และให้มีความเป็นอยู่สุขสบาย โดยท่านรับภาระส่งเสียอุปการะให้จนถึงที่สุด
ชีวิตในการรับราชการของท่าน ท่านได้สร้างประสิทธิภาพความเชี่ยวชาญให้แก่ตนเอง ไม่มีความคำนงถึงลาภผลสักการะ แต่คำนึงถึงความสำเร็จของงานเป็นที่ตั้ง จึงเป็นการส่งผลให้การปฏิบัติงานของท่านได้รับการยกย่องว่า เป็นผู้มีความรู้ความสามารถในด้านกฎหมาย เป็นอย่างดียิ่ง กอร์ปด้วยความเป็นผู้ดำรงมั่นในศีลธรรมอันดี ท่านมีอุดมการณ์ของท่านว่า “จงประสาทความยุติธรรม แม้ฟ้าจะถล่มก็ตามที ” ( Let Justice Be Done Even heaven Falls ) ท่านจึงเป็นผู้ที่ประสิทธิประสาทความยุติธรรมและธำรงรักษาไว้ซึ่งความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมายตลอดมา จนได้รับสมญาว่า “ เปาบุ้นจิ้แห่งศาลทหารกรุงเทพ ” และเนื่องจากความเชี่ยวชาญในด้านกฎหมายหลายด้าน ปฏิบัติงานอย่างตรงไปตรงมา จึงได้รับการแต่งตั้ง ให้เป็นที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ฯลฯ นับเป็นเกียรติประวัติ ที่ท่านภูมิใจที่ได้ ทำประโยชน์ให้ไว้กับแผ่นดินไทย
ในบั้นปลายชีวิตของท่าน มีความสุขด้วยการเดินไปพูดคุยกับลูกหลานที่บ้านของท่าน แต่ละครอบครัว ซึ่งปลูกอยู่ในบริเวณเดียวกัน ตามความประสงค์ของท่านที่ต้องการให้พี่น้อง อยู่ร่วมกันอย่างใกล้ชิด เพื่อดูแลซึ่งกันและกัน นอกจากนั้นก็มีความสุขกับการไปทำไร่ที่ศรีราชา
พลตรีมณีรัตน์ จารุจินดา ได้สมรสกับคุณศุภวัลย์ จารุจินดา (จารุจินดา) ธิดาขุนสิริบุรานุการ (ชัชย์ จารุจินดา ) และคุณลูกอินทน์ จารุจินดา ( เอมรัต ) เมื่อวันที่ ๑๐ มีนาคม ๒๔๙๓ มีบุตรและธิดา ๔ คน
ปกติ พลตรีมณีรัตน์ จารุจินดา มีสุขภาพแข็งแรง เมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๕ เริ่มมีอาการเหนื่อยง่าย ทำให้เข้าใจว่าเป็นอาการของโรคหัวใจไม่ปกติ ได้เข้ารับการตรวจรักษาที่โรงพยาบาลรามาธิบดี แม้ว่าอาการไม่ค่อยดีขึ้น แต่เนื่องจากอาการไม่มากนัก ท่านจึงยังคงไปทำงานเช่นปกติ ใน พ.ศ. ๒๕๓๗ อาการป่วยของโรคไขสันหลังฝ่อ ปรากฏชัดเจนขึ้น โดยมีการเท้าข้างขวาบวม ประสาทมือขวา เริ่มไม่ทำงาน จึงเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลมงกุฎวัฒนะ เข้าๆ ออกๆ อยู่หลายครั้ง เมื่อประมาณ มิถุนายน ๒๕๓๗ อาการฝ่อของประสาทไขสันหลังเป็นอย่างรวดเร็ว สภาพร่างกายเริ่มไม่ทำงาน โดยไม่สามารถยืน เดิน นั่ง นอน ได้อย่างปกติ แม้จะให้การรักษาพยาบาลอย่างดีที่สุด อาการก็ทรุด อย่างรวดเร็ว จนในที่สุดกล้ามเนื้อระบบต่างๆ ของร่างกายไม่ทำงาน เหลือเพียงระบบหายใจ และแล้ว วาระสุดท้ายก็มาถึง ท่านถึงแก่กรรมด้วยอาการสงบ เมื่อวันที่ ๒๖ พฤศจิกายน ๒๕๓๗ สิริรวมอายุได้ ๗๖ ปี ๕ เดือน ๒๓ วัน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทาน น้ำหลวงอาบศพพร้อมโกศแปดเหลี่ยม ฉัตรเบญจาตั้งประกอบ เกียรติยศ และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานผ้าไตร ๕ ไตร ทอดถวายพระสงฆ์บังสุกุล ในพิธิพระราชทานเพลิงศพ เมื่อวันที่ ๗ มีนาคม ๒๕๓๘ ณ วัดมงกุฎกษัตริยาราม กรุงเทพมหานคร.