ร้อยเอก ก้อน จารุจินดา

ร้อยเอก ก้อน จารุจินดา เป็นบุตรพระยารัตนสมบัติ ( แป๊ะ จารุจินดา ) และคุณพ่วง มีพี่น้องร่วมบิดาเดียวกัน ๒ คน พี่น้องร่วมบิดา ๑๙ คน

เมื่อเกิดมาได้ประมาณอายุ ๔ – ๕ ปี คุณพ่วงผู้เป็นมารดาได้ถึงแก่กรรม คุณหญิงตาบทิพย์ทับทรวง รัตนสมบัติ ( บูรณะศิลปิน ) ได้อุปการะเลี้ยงดูดุจมารดาบังเกิดเกล้าตลอดมา ปี พ.ศ. ๒๔๕๔ พันตรี พะจำเริญพลรบ ( แฐม จารุจินดา ) ได้ย้ายไปรับราชการตำแหน่งปลัดกองพลทหารบกที่ ๕ ( นครราชสีมา ) ร้อยเอก ก้อน ได้ติดตามไปด้วย แต่เมื่อพันครี พระจำเริญพลรบ ย้ายมาอยู่ที่อยุธยา ท่านก็มิได้ติดตามมา คงอยู่ที่นครราชสีมาต่อไป

การรับราชการ

        • พ.ศ. ๒๔๕๕ ขึ้นทะเบียนเป็นทหารกองประจำการเมื่อ
        • ๑ ตุลาคม ๒๔๕๘ เป็นนายสิบตรี
        • ๑๖ สิงหาคม ๒๔๘๔ เป็นนายร้อยตรี
        • ๑ เมษายน ๒๔๘๖ เป็นนายร้อยโท
        • ๑ เมษายน ๒๔๘๘ เป็นนายร้อยเอก

ในระหว่างรับราชการทหารอยู่ที่จังหวัดนครราชสีมานั้น ได้ไปราชการสงคราม ๒ ครั้ง คือ พ.ศ. ๒๔๘๓ ไปราชการสงครามกรณีพิพาทไทยกับอินโดจีนฝรั่งเศส และ พ.ศ. ๒๔๘๕ ไปราชการสงครามมหาเอเชียบูรพา ได้รับเหรียญชัยสมรภูมิทั้ง ๒ ครั้ง

ชีวิตร้อยเอก ก้อน จารุจินดา เป็นชีวิตที่ดิ้นรนเพื่อความอยู่รอด ด้วยน้ำพักน้ำแรงของตนเอง ท่านชอบเล่าความเป็นมาแต่วัยเด็กจนเติบโตเป็นผู้ใหญ่ให้ลูกฟังเสมอ เพื่อกล่อมใจให้ลูกเกิดมีความมานะ อดทน ต่อสู้และทนงตัวในทุกวิถีทาง ตัวท่านเองมีแต่ความบึกบึน อดทน มานะ ประการการงานไม่ว่าราชการหรือส่วนตัว อย่างไม่ว่างเว้น ไม่บ่นถึงความยากลำบาก ไม่ว่ากิจการใดๆ เช้ามืดลงทำสวน กลางวันรับราชการ เย็นลงไปนา ท่านได้เตือนลูกๆ เสมอว่า ท่านโง่ ไม่ได้ศึกษาเล่าเรียน แต่ที่ได้รับราชการเจริญมาเป็นคนดีอยู่ได้ เอาการเอางานทำแต่ในสิ่งที่ถูกต้องนี้ เพราะมีนามสกุล “ จารุจินดา ” ที่ได้รับการอุปถัมภ์จากผู้หลักผู้ใหญ่มาก็เพราะ “ จารุจินดา ” ไม่ใช่คุณงามความดีของท่าน แต่เป็นบารมีของบรรพบุรุษได้สร้างเกียรติคุณไว้ในแผ่นดิน สร้างเกียรติประวัติไว้ให้คนทั้งหลายในสังคมเป็นที่รู้จักกันทั่วไป ท่านเลยได้อาศัยศักดิ์ศรีของ “ จารุจินดา ” นี้เอง ดำรงชีวิตด้วยดี ท่านสอนลูกๆ ท่านว่า ต้องจดจำไว้ว่าเป็นหนี้ “ จารุจินดา ” ไม่มีบุญวาสนาที่จะเชิดชูส่งเสริมสกุลวงศ์ ก็อย่าได้ทำลายหรือทำให้แปดเปื้อนมัวหมอง

ร้อยเอก ก้อน มีศรัทธาแก่กล้า ทำบุญรักษาศีลบำเพ็ญภาวนามาโดยตลอด สร้างสรรค์และเอาใจใส่เคร่งครัดอยู่เสมอในการรับใช้พระพุทธศาสนา ในปลายชีวิตท่านเลื่อมใสในวิปัสสนากรรมฐานเป็นอย่างมาก ท่านจะนั่งกรรมฐานได้ทั้งกลางวันและกลางคืน ทำให้ท่านมีความภาคภูมิในจิตที่ได้รับการฝึก จิตใจอิ่มเอิบด้วยกุศลทาน แม้ที่สุดในวันสุดท้ายแห่งชีวิต ก่อนจะสิ้นใจเพียง ๕ – ๖ นาที ท่านก็ยังอ่าน “ หนังสือปฐมสมโพธิ์ ” อยู่
ร้อยเอก ก้อน จารุจินดา ได้สมรสกับนางทองมาก ( เกิดใหม่ )เมื่อวันที่ ๒๐ กุมภาพันธ์ ๒๔๕๗ มีบุตรและธิดา ๘ คน

ร้อยเอก ก้อน จารุจินดา ป่วยด้วยโรคหัวใจ เมื่อวันที่ ๑๖ สิงหาคม ๒๕๑๗ เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลประจำจังหวัดนครราชสีมาโดยกระทันหัน ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ ๓๐ สิงหาคม ๒๕๑๗ ด้วยหัวใจวายเฉียบพลัน สิริรวมอายุได้ ๘๓ ปี ๑ เดือน ได้รับพระราชทานเพลิงศพเมื่อ วันที่ ๙ เมษายน ๒๕๑๘ ณ เมรุวัดคีร์ษะละเลิง จังหวัดนครราชสีมา

Scroll to Top