ร้อยเอก ขุนจินดายุทธวิตต์ ( ฤกษ์ จารุจินดา )

ร้อยเอก ขุนจินดายุทธวิตต์ ( ฤกษ์ จารุจินดา ) เป็นบุตรพระยาศรีธรรมศุภราช ( เจริญ  จารุจินดา ) และคุณหรุ่น จารุจินดา เกิดเมื่อวันที่ ๑๗ มกราคม ๒๔๓๖ มีพี่น้องร่วมบิดา ๑๖ คน

เมื่อคลอดแล้วประมาณ ๓ – ๔ เดือน ผู้มารดาได้พาเข้าไปอยู่กับเจ้าจอมลิ้นจี่ ในรัชการที่ ๕ ( ธิดาพระยาเพชรพิไชย และคุณหญิงเย็น เพชรพิไชย ) ซึ่งมีศักดิ์เป็นอา ในพระบรมมหาราชวัง ได้เรียนหนังสือในพระบรมมหาราชวัง

ประวัติการศึกษาและการรับราชการ

      • พ.ศ. ๒๔๔๘ จึงได้ออกจากพระบรมมหาราชวัง โดยมาบรรพชาเป็นสามเณร อยู่ ณ วัดมกุฎกษัตริยาราม โดยพระธรรมปาโมกข์ ( ถม ) เจ้าอาวาสเป็นพระอุปัชฌายะ เมื่อบวชแล้วอยู่ในความปกครองของพระมหาแจ่ม ( ต่อมาเป็นสมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ ๑๐ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ )
      • พ.ศ. ๒๔๔๙ ภายหลังจากออกพรรษาแล้ว ได้ลาสึกจากสามเณร และคงอยู่กับวัดนั้นจนถึงปลายปี จึงไปอยู่กับท่านบิดาที่จังหวัดสงขลา ( ขณะนั้นท่านบิดามีบรรดาศักดิ์ พระยาชลบุรานุรักษ์ สมุหเทศาภิบาลมณฑลนครศรีธรรมราช ) ได้เข้าเรียนหนังสือใน พ.ศ. ๒๔๕๐ ที่ โรงเรียน มหาวชิราวุธ ซึ่งเป็นโรงเรียนประจำจังหวัด เข้าเรียนจบชั้น ป. ๓ ซึ่งเป็นชั้นสูงสุดของชั้นประถมในสมัยนั้น
      • พ.ศ. ๒๔๕๑ กลับเข้ามาอยู่ในกรุงเทพฯ เข้าเรียนโรงเรียนมัธยมวัดเทพศิรินทร์
      • พ.ศ. ๒๔๕๓ คุณหญิงเล็ก ( ภรรยาท่านบิดา ) ได้นำถวายตัวเป็นมหาดเล็กในทูลกระหม่อมจักรพงษ์ สมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงพิษณุโลกประชานารถ และย้ายเข้ามาเรียนที่โรงเรียนมัธยมวัดเบญจมบพิตร
      • พ.ศ. ๒๔๕๔ เข้าเป็นนักเรียนนายร้อยทหารบก อยู่ชั้นปฐม ๒ สอบไล่เลื่อนชั้นได้ทุกปีเป็นลำดับ จนถึง พ.ศ. ๒๔๖๐ ซึ่งเป็นปีสุดท้าย ได้ที่ ๒๐ จากจำนวนนักเรียน ๔๑ คน
      • พ.ศ. ๒๔๖๑ ได้เป็นนักเรียนทำการนายร้อย ประจำกรมทหารปืนใหญ่ที่ ๗ ( พิษณุโลก ) ได้เป็นว่าที่ร้อยตรี ในเดือน พฤศจิกายน ๒๔๖๑
      • พ.ศ. ๒๔๖๒ ได้เลื่อนยศเป็น ร้อยตรี และมาเป็นนักเรียนล่ามทหารบก สังกัดกรมยุทธศึกษาทหารบก จนถึง พ.ศ. ๒๔๖๔
      • พ.ศ. ๒๔๖๕ สำเร็จจากโรงเรียนล่ามทหารบก ไปเป็นนักเรียนนายทหารปืนใหญ่สังกัดกรมทหารปืนใหญ่  ที่ ๒ (บางซื่อ )
      • พ.ศ. ๒๔๖๖ ตอนปลายปี สอบไล่เสร็จแล้ว จึงเข้าไปประจำกรมทหารบกปืนใหญ่ที่ ๒ กองร้อยที่ ๑ ( บางซื่อ )
      • พ.ศ. ๒๔๖๗ ได้รับการเลื่อนยศ เป็น ร้อยโท สังกัดเดิม
      • พ.ศ. ๒๔๗๐ ย้ายไปเป็นทหารคนสนิทของผู้บังคับกองพันที่ ๑ กรมทหารบกปืนใหญ่ที่ ๕ ( นครราชสีมา )
      • พ.ศ. ๒๔๗๒ ไปเป็นนายทหารฝึกหัดราชการในโรงเรียนนายทหารสัมภาระ
      • พ.ศ. ๒๔๗๓ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น ขุนจินดายุทธวิตต์ และไปเป็นผู้ช่วยสมุห์บัญชี กรมทหารบกช่างที่ ๒ ( อยุธยา )
      • พ.ศ. ๒๔๗๕ ได้รับการเลื่อนยศเป็นร้อยเอก และเป็นสมุห์บัญชีกรมทหารบกช่างที่ ๒  ( อยุธยา ) และในปีนี้เองได้มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ ได้โอนกรมทหารบกช่างที่ ๒ ไปขึ้นจังหวัดทหารบกอยุธยา ไม่ต้องมีสมุห์บัญชีกรมทหารบกช่างที่ ๒ จึงได้รับตำแหน่งให้เป็นสมุห์บัญชีจังหวัดทหารบกอยุธยา
      • พ.ศ. ๒๔๗๖  เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงอัตรากำลัง สมุห์บัญชีจังหวัดฯ เป็นชั้นนายพัน จึงถูกลดตำแหน่งลงมาเป็นนายทหารฝ่ายการเงินจังหวัด เพราะอาวุโสน้อย ในปีนี้เอง มีคำสั่งกระทรวงกลาโหมย้ายไปประจำกรมปลัดบัญชี แต่หาได้ทันย้ายตามคำสั่งไม่  เพราะไม่มีผู้มารับหน้าที่ และทั้งยังต้องรักษาการในตำแหน่งสมุหบัญชีจังหวัดทหารบกอยุธยาอีกด้วย ( เพราะสมุหบัญชีจังหวัดก็ย้ายด้วย )
      • ๑๐ ตุลาคม ๒๔๗๖ เวลาเย็น ผู้บังคับการทหารบกจังหวัด เรียกประชุมนายทหารในจังหวัดที่บ้าน แล้วชี้แจงว่า พันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา มีคำสั่งโทรเลข ( ชูโทรเลขให้ดู ) ให้ทหารช่างไปช่วยปราบคอมมิวนิสต์ที่กรุงเทพฯ ครั้งพอตกค่ำทหารช่างทั้ง ๒ กองพันก็ยกไปดอนเมือง ( ภายหลังเรียกกันว่า “ขบถบวรเดช” จึงทำให้ร้อยเอก ขุนจินดายุทธวิตต์ ต้องตกค้างอยู่ที่อยุธยา หาได้ทันย้ายเข้ากระทรวงตามคำสั่งไม่ ต้องปฏิบัติหน้าที่ราชการไปตามปกติตลอดเวลาที่เรียกกันว่า “ขบถ” และตลอดจนถึงเวลาที่ทหารฝ่ายรัฐบาลขึ้นไปยึดพระนครศรีอยุธยาด้วย จนถึงต้นมกราคม ๒๔๗๗ จึงได้มารายงานตัวที่กรมปลัดบัญชีตามคำสั่ง
      • ๙ มกราคม ๒๔๗๗ ถูกควบคุมตัวไปกักขังที่กระทรวงกลาโหม ในฐานะเป็นฝ่ายขบถแล้วต่อมาถูกย้ายไปกักขังที่เรือนจำมหันตโทษ บางขวาง  จังหวัดนนทบุรี จึงถึงพฤษภาคม ๒๔๗๗ ศาลพิเศษก็ตัดสินให้จำคุกตลอดชีวิต ( แต่ลดโทษอะไรไม่ทราบแน่ชัด คงคุมขังลดเหลือเพียง ๙ ปี ) ต้องถูกถอดยศและบรรดาศักดิ์
      • ๑ เมษายน ๒๔๘๑ ได้รับพระราชทานอภัยโทษ ให้ปลดปล่อยจากเรือนจำ และรัฐบาลยอมอนุมัติให้เข้ารับราชการในสถานที่ของรัฐบาลได้ ต่อมาได้รับยศและบรรดาศักดิ์คืนเมื่อวันที่ ๑๕ ตุลาคม ๒๔๘๙ เป็นนายทหารนอกราชการ รับเงินบำนาญประเภททดแทน สังกัดกองทัพบก
      • ๑๖ เมษายน ๒๔๘๑ สมัครเข้าทำงานในโรงงานทอผ้าไทย สังกัดกระทรวงกลาโหม ได้รับการบรรจุเป็นเสมียนฝ่ายยกกระบัตร ( แผนกพัสดุ ) ในปลายปีได้รับการแต่งตั้งไปเป็นหัวหน้าแผนกพัสดุ โรงงานทอผ้าไทย ภาค ๒ ( พิษณุโลก  )  ถึงตุลาคม ๒๔๙๑ ย้ายมาเป็นหัวหน้าพัสดุ โรงงานวัดสร้อยทอง
      • พ.ศ. ๒๔๙๓ ย้ายไปประจำกองการค้า กองอำนวยการกลาง องค์การทอผ้า
      • พ.ศ. ๒๕๐๐ ได้รับแต่งตั้งเป็นพนักงานพัสดุและยานพาหนะ ( คือหัวหน้าแผนกพัสดุ ) กองอำนวยการ องค์การทอผ้า
      • ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๕๐๖ ลาออกจากหน้าที่

ร้อยเอก ขุนจินดายุทธวิตต์ ได้ทำการสมรสกับ คุณน้อม ในกลางปี ๒๔๖๓ มีบุตรและธิดา ๕ คน

ร้อยเอก ขุนจินดายุทธวิตต์ ถึงแก่กรรมด้วยโรคชรา เมื่อวันที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๑ รวมอายุได้ ๙๕ ปี ๑ เดือน ๑๑ วัน ได้รับพระราชทานเพลิงศพ เมื่อวันที่ ๕ มีนาคม ๒๕๓๑ ณ วัดศรีมหาธาตุวรมหาวิหาร กรุงเทพมหานคร

Scroll to Top