คุณสักกะ จารุจินดา

คุณสักกะ จารุจินดา เดิมชื่อชาติ เป็นบุตรคุณชื้น จารุจินดา และ ม.ล.หญิง สมรพิศ (สิงหรา) เกิดเมื่อวันที่ ๕ เมษายน ๒๔๖๕ มีพี่น้องร่วมบิดามารดา ๒ คน พี่น้องร่วมบิดา ๘ คน

การศึกษา

คุณสักกะ จารุจินดา ได้เข้าศึกษาหลังจากที่จบมัธยมศึกษาที่แผนกช่าง โรงเรียนศิลปากร ( ต่อมาเป็นมหาวิทยาลัย ศิลปากร ) ซึ่งศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี เป็นผู้อำนวยการ จนจบชั้นปีที่ ๔ ในขณะที่ศึกษาอยู่นี้ได้ไปร่วมบูรณะพระธาตุพนม จังหวัดนครพนม ซึ่งอยู่ระหว่างสงครามกรณี พิพาทไทยกับอินโดจีนของฝรั่งเศส (พ.ศ. ๒๔๘๓ – ๒๔๘๔ ) ได้รับเหรียญช่วยราชการเขตภายใน

การรับราชการ

      • เมื่อจบการศึกษาแล้ว ได้เข้ารับราชการที่เทศบาลนครกรุงเทพฯ
      • เมื่อเกิดสงครามมหาเอเซียบูรพา ได้เข้ารับราชการทหาร ได้รับพระราชทานเหรียญชัยสมรภูมิ
      • ในระหว่างนั้น พลตรี หลวงวิจิตรวาทการ ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมศิลปากร ได้จัดทำละครเวทีของกรมศิลปากร ได้เข้าช่วยทำงานด้านศิลปกรรมให้กับกรมศิลปกร และยังไปช่วยให้กับ คณะละครศิวารมฌ์ด้วย
      • เมื่อสงครามมหาเอเชียบูรพายุติลง ได้เข้าทำงานที่การไฟฟ้า จังหวัดนครราชสีมา แล้วย้ายเข้ามารับตำแหน่งในแผนกออกแบบและควบคุมการก่อสร้างของกองไฟฟ้าส่วนภูมิภาค กรมโยธาเทศบาล
      • พ.ศ. ๒๕๐๐ ได้ลาออกจากราชการ เข้าทำงานที่สถานีโทรทัศน์ช่อง ๔ (บางขุนพรหม) เป็นระยะเวลานานพอสมควร จึงได้ลาออกมาสร้างภาพยนตร์ส่วนตัว และต่อมาได้หยุดสร้างภาพยนตร์ มาทำการก่อสร้างโรงถ่ายภาพยนตร์ไฟว์สตาร์

ชีวิตของคุณสักกะ จารุจินดา นับได้ว่าเป็นตัวอย่างท่านหนึ่งของ “สายสกุล จารุจินดา” ที่ได้เปลี่ยนวิถีชีวิตในทางราชการมาเป็นอาชีพอิสระตามวิชาชีพที่ตนได้ศึกษามา ได้ก่อร่างสร้างตนและครอบครัวด้วยความอุตสาหะและวิริยะอย่างสูง อดทนต่อความเหนื่อยยาก เพื่อผลิตงานของตนให้ดีที่สุด ด้วยความสามารถและความตั้งใจ เอาจริงเอาจังต่องาน ในที่สุดก็ประสบความสำเร็จอย่างน่าชื่นชมสมความปรารถนาที่ตั้งไว้

ในระหว่างการทำงานอยู่ในฝ่ายศิลปกรรม สถานีไทยโทรทัศน์ ช่อง ๔ (บางขุนพรหม) ได้ออกแบบฉากละครและรายการ เป็นผู้กำกับรายการ กำกับการแสดง แสดงละครเป็นพระเอกให้กับละครคณะต่างๆ แสดงละครวิทยุ เป็นผู้อ่านข่าวภาคค่ำทางโทรทัศน์ และวิทยุถ่ายภาพยนตร์ โทรทัศน์ ให้กำเนิด คณะ ๖๗ การละครและภาพยนตร์ ซึ่งได้ผลิตละครเรื่องสั้น เช่น

      • โทรทัศน์
      • คนหรือขยะ
      • นักมวยเอก ฯลฯ

และละครเรื่องยาว เช่น

      • บูเช็คเทียน
      • จางเซินผู้ผิวขลุ่ย
      • ขันทีผู้ล้มแผ่นดิน
      • ม่านประเพณี
      • นางพญางูขาว
      • เปาบุ้นจิ้น
      • ฮวนนั้ง
      • ชั่นบ้อเหมา
      • จุลอุปรากร
      • ไอด้า
      • อาบูหะซัน ฯลฯ

อันเป็นที่แพร่หลายให้ความชื่นชมต่อผู้ชมทางโทรทัศน์อย่างกว้างขวาง นอกจากผลงานที่ปรากฏต่อสถานีโทรทัศน์ช่อง ๔ (บางขุนเทียน) ยังได้ไปช่วยดำเนินงานละครเวที ที่หอประชุมธรรมศาสตร์อีกด้วย

      • ดำเนินงานละครเวทีหน้าพระที่นั่ง เรื่อง “จันทกินรี” ให้มูลนิธิราชประชาสมาสัย
      • ดำเนินงานละครเวทีหน้าพระที่นั่ง เรื่อง “พันท้ายนรสิงห์” ให้สมาคมต่อต้านยาเสพติดให้โทษแห่งประเทศไทย กรมตำรวจ
      • ออกแบบและสร้างที่ประทับให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ซึ่งทรงประสงค์จะประทับทอดพระเนตรละครอย่างใกล้ชิดติดกับวงดนตรี

เมื่อออกจากสถานีโทรทัศน์ ช่อง ๔ (บางขุนพรหม) แล้ว ได้มาเริ่มสร้างภาพยนตร์ของตนเอง คือ

      • วิมานสลัม
      • เข็ดจริงๆ ให้ดิ้นตาย
      • ตลาดพรหมจารีย์ ( ได้รับรางวัลตุ๊กตาเงิน พระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ด้านถ่ายทอดชีวิตความเป็นอยู่ของคนไทยได้สมจริง และในเรื่องนี้ เปียทิพย์ คุ้มวงศ์ ได้รับรางวัลผู้แสดงหญิงยอดเยี่ยม )
      • มาแต่เลือด ฯลฯ

จากนั้นได้เข้าสังกัดบริษัทไฟว์สตาร์โปรดักชั่น จำกัด ได้สร้างภาพยนตร์ คือ

      • พยัคฆ์ร้ายไทยถีบ ( ติด ๑ ใน ๕ งานประกวดภาพยนตร์ที่ประเทศรัสเซีย )
      • ขุนศึก ( พ.ศ. ๒๕๑๙ ได้รับรางวัลผู้กำกับยอดเยี่ยม และภาพยนตร์ยอดเยี่ยม สุพจน์ จารุจินดา ได้รับรางวัลการสร้างฉากยอดเยี่ยม และภาพยนตร์เรื่องนี้ ยังได้รับรางวัลในเทคนิคการถ่ายภาพยอดเยี่ยมจากประเทศเกาหลี)
      • เพื่อนรัก (ได้รับรางวัลตุ๊กตาเงิน ด้านสงเสริมศีลธรรมอันดีงาม พอหทัย พุกกะณะสุต ได้รับรางวัลตุ๊กตาเงินดาราเด็กยอดเยี่ยม)
      • หงษ์ทอง
      • พ่อหม้ายทีเด็ด
      • เจ็ดซุปเปอร์เปี๊ยก
      • กับตันเรือปู ฯลฯ

จากนั้นได้หยุดงานสร้างภาพยนตร์ มาควบคุมการก่อสร้างโรงถ่ายภาพยนตร์ให้กับบริษัท ไฟว์สตาร์ และสร้างละครให้แก่ไทยทีวี ช่อง ๓ คือ

      • ขุนศึก ( สุเชาว์ พงษ์วิไล ได้รับรางวัลผู้แสดงสมทบยอดเยี่ยม)
      • ผู้ชนะสิบทิศ

ต่อมาได้กลับมาสร้างภาพยนตร์อีก คือ

      • เพชรตัดเพชร ( สุพจน์ จารุจินดา ได้รับรางวัลการถ่ายภาพ ยอดเยี่ยม ณรงค์ จารุจินดา ได้รับรางวัลลำดับภาพยนตร์ยอดเยี่ยม )
      • ผู้ใหญ่ลีกับนามา
      • แก้วกลางดง
      • พ่อจอมยวนแม่จอมยุ่ง
      • ไปรษณีย์สื่อรัก
      • หวานมัน…ฉันคือเธอ (๓ ตอน)
      • ครูไหวใจร้าย ( ได้รับรางวัล ในผลงานสื่อมวลชนดีเด่นเพื่อเยาวชน ประจำปี ๒๕๓๑ – ๒๕๓๒ )
      • นางอาย

นอกจากนี้ได้รับ กำกับละครให้กับบริษัทสตาร์วิชั่น ในเรื่อง

      • เจ้าจอม
      • รอยอาลัย

ในบั้นปลายชีวิต ได้เริ่มรับงานแสดง พิธีกรสารคดีไทย ละครโทรทัศน์เรื่อง

      • ชีวิตเปื้อนฝุ่น
      • ทวิภพ
      • ดาวพระศุกร์
      • ซุ้มสบันงา
      • อินทรีย์แดง
      • เขียนบทละครเรื่องผู้ใหญ่ลีกับนางมา

คุณสักกะ จารุจินดา ได้สมรสกับ คุณพจนา จารุจินดา ( อัครพันธ์) ธิดาหลวงกิจวิจารณ์ และ คุณศรีพันธ์ สารกิจวิจารณ์ ( อัครพันธ์ ) มีบุตรและธิดา ๕ คน

คุณสักกะ จารุจินดา มิเพียงแต่พยายาม “ปั้น” ตัวเองให้รุ่งโรจน์ในด้านศิลปกรรมเท่านั้น ท่านยังได้ “ปั้น” ทายาทของท่านได้สืบสายในศิลปกรรมการแสดงและภาพยนตร์ คือ

      • การแสดง – คุณดวงดาว จารุจินดา
      • การภาพยนตร์ – คุณสุพจน์ จารุจินดา และคุณณรงค์ จารุจินดา

ซึ่งนับไดว่า คุณสักกะ จารุจินดา เป็นผู้สร้างเกียรติให้กับ “ สายสกุล จารุจินดา” ไว้มิใช่น้อย

คุณสักกะ จารุจินดา ได้ทราบว่าป่วยเกี่ยวกับโรคหัวใจมาตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๒๕ แต่ก็ได้รับการรักษาและตรวจสุขภาพด้วยดีตลอดมา ครั้งสุดท้ายได้รับการตรวจเช่นเคย เมื่อวันที่ ๑๙ พฤศจิกายน ๒๕๔๐ แล้วกลับมาบ้าน ในวันรุ่งขึ้นได้เข้านอนพักผ่อนในตอนสาย จนเที่ยงก็ไปพบว่าท่านได้สิ้นชีวิตเสียแล้ว ( ๒๐ พฤศจิกายน ๒๕๔๐) รวมสิริอายุได้ ๗๕ ปี ๗ เดือน ๑๔ วัน ได้รับพระราชทานเพลิงศพ (เป็นกรณีพิเศษ) เมื่อวันที่ ๗ มีนาคม ๒๕๔๑ ณ เมรุวัดพระศรีมหาธาตุวรมหาวิหาร กรุงเทพมหานคร

Scroll to Top