เจ้าพระยาสุรบดินทรสุรินทรฦาไชย (พร จารุจินดา) เป็นบุตรพระยาเพชรพิไชย (ทองจีน จารุจินดา) และคุณหญิงเย็น เพชรพิไชย (เกตุทัต) เกิดเมื่อวันที่ ๒ ธันวาคม ๒๔๐๖ มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน ๑๐ คน มีพี่น้องร่วมบิดา ๑ คน

         เมื่ออายุ ๑๑ ปี ได้เข้าศึกษาในโรงเรียนพระบรมมหาราชวังและในโรงเรียนสวนนันทอุทยาน เมื่อสำเร็จการศึกษาแล้วได้เข้ารับราชการสนองพระเดชพระคุณพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รับพระราชทานสัญญาบัตรเป็น นายรองฉัน มหาดเล็กเวรศักดิ์ เมื่อวันที่ ๒๗ ตุลาคม พ.ศ.๒๔๒๘

๑๔ ตุลาคม ๒๔๒๙ เลื่อนเป็น จ่าห้าวยุทธการ ในกรมพระตำรวจขวา (ได้ขี่ม้ารำทวนถวายทอดพระเนตรหน้าพลับพลา ในงานพระเมรุสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทา คู่กับ คุณพิณเทพเฉลิม บุนนาค)

พ.ศ.๒๔๓๐ ย้ายไปรับราชการกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ ในตำแหน่งผู้ช่วยเจ้าจำนวน

พ.ศ.๒๔๓๒ ไปเป็นเจ้ากรมยาฝิ่นหลวง

พ.ศ.๒๔๓๓ ไปเป็นเจ้ากรมสารบรรณ กระทรวงพระคลังมหาสมบัติ ได้ทำการแทนปลัดทูลฉลองฯ เป็นครั้งคราว

๑ พฤศจิกายน ๒๔๓๔ เลื่อนบรรดาศักดิ์เป็น พระศิริไอสวรรย์ ตำแหน่งเดิม

พ.ศ.๒๔๓๗ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ไปรับราชการในกระทรวงมหาดไทย เป็นข้าหลวงรักษาการเมืองนครนายก

พ.ศ.๒๔๓๘ ย้ายไปเป็นข้าหลวงเมืองฉะเชิงเทรา

พ.ศ.๒๔๓๙ ย้ายมาเป็นเลขานุการของเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย

๒ มกราคม ๒๔๔๐ เลื่อนบรรดาศักดิ์เป็น พระยาอุทัยมนตรี ตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดปราจีนบุรี

๒๑ มิถุนายน ๒๔๔๑ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ย้ายไปเป็นข้าหลวงประจำนครลำพูน

พ.ศ.๒๔๔๕ ย้ายไปเป็นข้าหลวงประจำนครลำปาง ในระยะเวลาเกิดขบถเงี้ยว ได้รักษาบ้านเมืองไว้ได้เรียบร้อย จนเสร็จการจราจล

พ.ศ.๒๔๔๙ ย้ายไปเป็นข้าหลวงนครน่าน และในปีเดียวกันนั้นได้เลื่อนขึ้นเป็นสมุหเทศาภิบาลมณฑลพิษณุโลก

พ.ศ.๒๔๕๔ ได้รับพระราชทานยศเป็น มหาอำมาตย์ตรี

พ.ศ.๒๔๕๕ ได้เลื่อนบรรดาศักดิ์เป็น พระยาสุรบดินทรสุรินทรฦาไชย

๔ เมษายน ๒๔๕๘ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็น องคมนตรี

๑๑ กรกฎาคม ๒๔๕๘ ได้รับพระราชทานยศเป็น มหาเสวกตรี

๒๘ ตุลาคม ๒๔๖๔ ย้ายไปรับราชการแทนอุปราชมณฑลพายัพ เมื่อเวลาทรงประชวร (พระองค์เจ้าบวรเดช)

๑ สิงหาคม ๒๔๖๕ เป็นอุปราชมณฑลพายัพ

๑๑ พฤศจิกายน ๒๔๖๘ เลื่อนบรรดาศักดิ์เป็น เจ้าพระยาสุรบดินทรสุรินทรฦาไชย ดำรงศักดินา ๑๐๐๐๐

๑ เมษายน ๒๔๖๙ เนื่องแต่การแก้ไขเศรษฐกิจตกต่ำในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ย้ายเข้ามาเป็นสมุหพระนครบาล ในกรุงเทพฯ และโปรดเกล้าฯ ให้เป็นผู้แทนปลัดกระทรวงมหาดไทย อีกตำแหน่งหนึ่งด้วย

๔ เมษายน ๒๔๖๙ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตั้งให้เป็นองคมนตรี

๒๒ พฤษภาคม ๒๔๖๙ ได้รับพระราชทานยศเป็น มหาเสวกโท

๑๐ พฤษภาคม ๒๔๗๑ กราบถวายบังคมลาออกจากราชการ เพราะชรา ได้รับพระราชทานบำนาญพิเศษ

เจ้าพระยาสุรบดินทรสุรินทรฦาไชย ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ดังนี้

            พ.ศ.๒๔๓๓        เบญจมาภรณ์มงกุฎไทย

            พ.ศ.๒๔๔๐        จตุรถาภรณ์ช้างเผือก

            พ.ศ.๒๔๔๗        ตริตาภรณ์มงกุฎไทย

            พ.ศ.๒๔๕๔        ตริตาภรณ์ช้างเผือก

            พ.ศ.๒๔๕๕        ทุติยจุลจอมเกล้า

            พ.ศ.๒๔๕๖        ทวีติยาภรณ์ช้างเผือก

            พ.ศ.๒๔๕๗        ประถมาภรณ์มงกุฎไทย

            พ.ศ.๒๔๕๘        ทุติยจุลจอมเกล้าวิเศษ

            พ.ศ.๒๔๖๐        ประถมาภรณ์ช้างเผือก

            พ.ศ.๒๔๖๘        ปฐมจุลจอมเกล้า

ได้รับพระราชทานเหรียญและเข็ม คือ

            พ.ศ.๒๔๓๖        เหรียญรัชฎาภิเศก

            พ.ศ.๒๔๔๐        เหรียญประพาศมาลา

            พ.ศ.๒๔๔๗        เหรียญทวีธาภิเศก ทอง

            พ.ศ.๒๔๕๐        เหรียญรัชมงคล ทอง

            พ.ศ.๒๔๕๑        เหรียญรัชมังคลาภิเศก

            พ.ศ.๒๔๕๒        เข็มพระชนมายุศม์

            พ.ศ.๒๔๕๓        เหรียญรัตนาภรณ์ ว.ป.ร. ชั้น ๓

            พ.ศ.๒๔๕๔        เหรียญบรมราชาภิเษก ร.๖ ทอง

            พ.ศ.๒๔๕๔        เข็มไอยราพต

            พ.ศ.๒๔๕๕        เข็มข้าหลวงเดิม

            พ.ศ.๒๔๕๗        เหรียญจักรพรรดิมาลา

            พ.ศ.๒๔๖๕        เหรียญรัตนาภรณ์ ว.ป.ร. ชั้น ๒

            พ.ศ.๒๔๖๘        เหรียญบรมราชาภิเษก ร.๗ ทอง

            พ.ศ.๒๔๙๓        เหรียญบรมราชาภิเษก ร.๘ ทอง

         พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงคุ้นเคยกับเจ้าพระยาสุรบดินทรสุรินทรฦาไชย จนสนิทชิดชอบในพระราชอัธยาศัย มาตั้งแต่ยังดำรงพระยศเป็นสมเด็จพระยุพราช ด้วยเจ้าพระยาสุรบดินทรสุรินทรฦาไชย ได้เคยจัดการรับเสด็จประพาสเมืองพระร่วง ในมณฑลพิษณุโลก ได้จัดการรับเสด็จพระราชดำเนินตลอดทางจนถึงกรุงเทพมหานคร และเมื่อครั้งเสด็จพระราชดำเนินเปิดทางรถไฟตอนอุตรดิตถ์ ก็ได้จัดการรับเสด็จอีกครั้งหนึ่ง ครั้นเมื่อเสด็จขึ้นครองราชสมบัติแล้ว เสด็จพระราชดำเนินสมโภชพระพุทธชินราช จังหวัดพิษณุโลก ก็ได้จัดการรับเสด็จเป็นที่พอพระราชหฤทัย ทรงประจักษ์แจ้งในความจงรักภักดีของเจ้าพระยาสุรบดินทรสุรินทรฦาไชยตลอดมา

         เจ้าพระยาสุรบดินทรสุรินทรฦาไชย ได้รับพระราชทานให้ร่วมโต๊ะเสวยสมเด็จพระพันปีหลวง ในรัชกาลที่ ๖ เมื่อทรงบำเพ็ญพระราชกุศลพระชันษา ๔ รอบ ในฐานะพระสหชาติและได้รับพระราชทานสิ่งของที่ระลึกเป็นรูปตราหมู่ (ปีกุน) ครบชุด

ชีวิตในการปฏิบัติรับราชการนั้น เจ้าพระยาสุรบดินทรสุรินทรฦาไชย ได้ใช้สติปัญญาความสามารถกอร์ปด้วยความอุตสาหะวิริยะ มีความชอบความดีมาก เป็นที่นิยมรักใคร่ของประชาชน เมื่อสมัยเป็นสมุหเทศาภิบาลมณฑลพิษณุโลก ได้จัดการสอนให้ราษฎรทำมาหากินด้วยการปลูกฝ้าย ทอผ้า เลี้ยงสัตว์ เป็นต้น ให้นักโทษในเรือนจำสร้างเครื่องทอผ้าชนิดกี่กระตุกขึ้น ราษฎรผู้ใดทอได้ก็ให้รางวัล ๑ เครื่อง ได้จัดให้มีการประกวดกสิกรรมและหัตถกรรมขึ้นในมณฑล เมื่อสมัยเป็นอุปราชมณฑลพายัพ ท่านได้ใช้นโยบายการปกครอง มุ่งหน้าพัฒนาปรับปรุงการกสิกรรมและการเกษตรของประชาชนพลเมือง ได้นำพันธุ์สุกรดีๆ ไปให้ราษฎรเลี้ยง ให้ปลูกต้นหม่อนเพื่อใช้เลี้ยงไหมมากๆ อันจะได้ไหมทอผ้าแทนที่จะซื้อจากต่างประเทศ ได้ตั้งสวนทดลองขึ้นที่ตำบลแม่โจ้ ปลูกผักเมืองหนาว ให้เป็นตัวอย่างแก่ราษฎร สนับสนุนการปลูกข้าว ปรับปรุงการล้อมรั้วบ้าน การสร้างครกมอง หลวงข้าว เล้าไก่ เล้าหมู ให้ทำกันอย่างจริงจัง การปกครองของท่านนั้นใช้พระคุณมากกว่าพระเดช และวางตนให้เป็นที่ยำเกรงของผู้น้อย ด้านการบริหารอื่นๆ ในส่วนจังหวัดก็เรียบร้อย ข้าราชการทุกฝ่ายปฏิบัติงานอย่างเข้มแข็ง จริงจัง ซื่อสัตย์ สุจริต การปราบปรามโจรผู้ร้ายสงบและเบาบางลง เหตุร้ายอุกฉกรรจ์ไม่ค่อยมี ทางด้านการศึกษาก็ก้าวหน้าขึ้นเป็นลำดับ ลูกหลานชาวเชียงใหม่ได้เข้าเรียน “โรงเรียนยุพราชวิทยาลัย” มากขึ้น แม้ชนบทต่างจังหวัดก็ส่งเข้ามาเรียนในโรงเรียนแห่งนี้ ซึ่งสมัยนั้นเรียกว่า “โรงเรียนประจำมณฑลพายัพ” ในยุคของท่านนี้ได้ดำเนินตามพระราโชบายของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว แทบทุกอย่าง มีการแข่งขันฟุตบอล ทำให้ข้าราชการทหาร ตำรวจ และพลเรือนมีความสามัคคีกันดีมาก อันเป็นเหตุให้กีฬาฟุตบอลได้แพร่หลายในมณฑลพายัพแทบทุกจังหวัด นอกจากนั้น ยังจัดให้มีการแสดงละครพูดตามพระราโชบาย กล่าวได้ว่า กรุงเทพฯ ทำอย่างไร พระนครเชียงใหม่ก็ทำแบบนั้นทุกประการ

         ในส่วนราชการเสือป่า เจ้าพระยาสุรบดินทรสุรินทรฦาไชย ได้สมัครเข้าเป็นสมาชิกแต่แรกตั้ง ได้เอาใจใส่ในหน้าที่อย่างดี ทำให้การดำเนินราชการทางเสือป่าเจริญมาเป็นลำดับ ได้ดำริวางแบบแผนในการฝึกหัดสั่งสอน ทั้งวางข้อบังคับลักษณะการปกครองในกองเสนาเรียบร้อยกว่าเดิม ทั้งรู้จักปลุกใจให้พลเรือนสมัครเข้าเป็นเสือป่าจำนวนมาก ท่านได้รับพระราชทานเลื่อนยศทางเสือป่ามาเป็นลำดับ

พ.ศ.๒๔๕๕        เป็นนายหมู่ใหญ่ เสือป่า

พ.ศ.๒๔๕๖        เป็นนายกองตรี เสือป่า

พ.ศ.๒๔๕๘        เป็นนายกองโท เสือป่า

พ.ศ.๒๔๕๙        เป็นนายกองเอก เสือป่า

๒ ธันวาคม ๒๔๖๑ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็นอัศวินแห่งเครื่องราชอิสริยาภรณ์ อันมีศักดิ์ รามาธิบดี

๓๐ ธันวาคม ๒๔๖๑ เป็นนายกองใหญ่ เสือป่า

๒๗ กุมภาพันธ์ ๒๔๖๖ เป็นนายพล เสือป่า (ผู้บัญชาการกองเสนารักษาดินแดน ภาคพายัพ) และราชองครักษ์

         เจ้าพระยาสุรบดินทรสุรินทรฦาไชย มีภรรยา ๔ คน

            - คุณแฉ่ง มีธิดา ๒ คน

            - คุณหญิงบุญรอด (วัชราภัย) มีบุตร ๓ คน

            - คุณหญิงเพิ่ม (จารุจินดา)  มีบุตรธิดา ๒ คน

            - คุณหญิงชอุ่ม (คุปตารักษ์) มีบุตรธิดา ๖ คน

         เจ้าพระยาสุรบดินทรสุรินทรฦาไชย เมื่อออกจากราชการแล้ว พำนักอยู่ในกรุงเทพฯ ตลอดมา เมื่อวันที่ ๒๔ มกราคม ๒๔๙๘ เริ่มป่วยด้วยโรคหัวใจ ถึงกับลุกไม่ได้ อาการทรงกับทรุดเรื่อยมา เมื่อวันที่ ๑๔ สิงหาคม ๒๔๙๘ มีไข้สูง และได้ถึงแก่อนิจกรรมเมื่อวันที่ ๑๗ สิงหาคม ๒๔๙๘ สิริรวมอายุได้ ๙๑ ปี ๘ เดือน ๑๕ วัน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานน้ำหลวงอาบศพ พร้อมโกศแปดเหลี่ยม ฉัตรเบญจาตั้งประดับเกียรติยศ และได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเพลิงศพ ณ เมรุหลวงหน้าพลับพลาอิสริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส เมื่อวันที่ ๑๙ ตุลาคม ๒๔๙๘ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จพระราชดำเนินไปพระราชทานเพลิงศพ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานผ้าไตรของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ๕ ไตร และของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ๕ ไตร ให้ทายาทนำไปทอดที่โกศศพ พระสงฆ์ ๑๐ รูปบังสุกุล เสร็จแล้วทรงจุดฝักแคพระราฃทานเพลิง