คุณเขียน  จารุจินดา เป็นบุตร ร้อยโท พระอภิรักษ์ราชอุทยาน ( ถม  จารุจินดา ) และคุณจันทร์  จารุจินดา ( วรวิเศษ ) เกิดเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2435 มีพี่น้องร่วมบิดา 2 คน
คุณเขียน จารุจินดา เริ่มเรียนหนังสือเมื่อ พ.ศ. 2449 เป็นหนังสือไทยและโรงเรียน กรมหลวงวงเสรษฐ วัดปรินายก กรุงเทพฯ สอบไล่ได้ชั้นประถม 3
เริ่มรับราชการครั้งแรกในพระบรมมหาราชวัง เมื่อได้สมรสกับ คุณทองคำ จารุจินดา ( รุ่งเรือง ) ซึ่งรับราชการอยู่แห่งเดียวกัน จึงลาออกจากราชการด้วยกัน ไปรับราชการเป็นนายสิบตำรวจ เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2460 ออกจากราชการเมื่อใดไม่ปรากฏ หลังจากนั้นเข้ารับราชการในกระทรวงมหาดไทย มีประวัติดังนี้
1 มิถุนายน 2468         สารวัตรอำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม
1 กรกฎาคม 2468       เสมียนมหาดไทย อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม
28 มีนาคม 2471         ปลัดซ้ายอำเภอกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม
1 พฤษภาคม 2475      ปลัดกิ่งอำเภอไทรโยค จังหวัดกาญจนบุรี
3 กันยายน 2477         ปลัดซ้ายอำเภอเสนา จังหวัดอยุธยา
1 เมษายน 2478          ปลัดอำเภอเสนา จังหวัดอยุธยา
6 กุมภาพันธ์ 2479       ปลัดอำเภอสรรค์บุรี จังหวัดชัยนาท
เมื่อออกจากราชการแล้ว ได้ไปพำนักอาศัยอยู่กับนายบัญญัติ จารุจินดา ผู้เป็นบุตรคุณเขียน จารุจินดา มีภรรยา 2 คน
คุณทองคำ ( รุ่งเรือง ) มีบุตรและธิดา 2 คน
คุณกิมไล้  มีบุตร 3 คน
คุณเขียน  จารุจินดา ได้ถึงแก่กรรมเมื่อ พ.ศ. 2489 ด้วยโรคท้องร่วงอย่างแรง รวมอายุได้ 54 ปี
มหาอำมาตย์ตรี พระยาลพะนรินทร์เรืองศักดิ์ ( วงศ์  จารุจินดา )
มหาอำมาตย์ตรี พระยาลพะนรินทร์เรืองศักดิ์ ( วงศ์  จารุจินดา ) เป็นบุตรเจ้าพระยาสุรบดินทรสุรินทรฦาไชย ( พร จารุจินดา ) และคุณหญิงบุญรอด สุรบดินทรสุรินทรฦาไชย ( วัชราภัย ) เกิดเมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2427 มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน 2 คน พี่น้องร่วมบิดา 10 คน
เมื่ออายุ 7 ปี เริ่มเรียนอักษรไทยอยู่กับบ้าน ตามแบบเรียนอย่างเก่า  ( มูลบทบรรพกิจ )
พ.ศ. 2438  ออกไปเรียนวิชาภาษาอังกฤษ ณ เมืองปีนัง เรียนอยู่ 6 ปี กลับเข้ามากรุงเทพฯ เรียนหนังสือไทยเพิ่มเติมกับพระยาอิศรพันธ์โสภณ ( ม.ร.ว.หนู )
พ.ศ. 2445  ได้เข้าเป็นนักเรียนกฎหมายและเข้ารับราชการเป็นล่ามในกระทรวงยุติธรรม
พ.ศ. 2448  ได้รับพระราชทานสัญญาบัตรเป็น หลวงนรอัฏบัญชา
พ.ศ. 2450  สำเร็จวิชากฎหมาย สอบไล่ได้เป็นเนติบัณฑิตย์
พ.ศ. 2451  ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ไปรับราชการเป็นผู้พิพากษาจังหวัดน่าน ในมณฑลพายัพ
พ.ศ. 2454  รับพระราชทานยศเป็น อำมาตย์โท
พ.ศ. 2456  ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ไปเป็นผู้พิพากษาศาลมณฑลนครไชยศรี
พ.ศ. 2457  ย้ายไปเป็นผู้พิพากษาศาลจังหวัดสมุทรสาคร
พ.ศ. 2459  ได้รับพระราชทานเลื่อนบรรดาศักดิ์เป็น พระทิพย์มณฑาดุลมนุญนิรุกตี และในปีเดียวกันนี้ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ จตุรถาภรณ์มงกุฎสยาม
พ.ศ. 2461  ย้ายไปรับราชการในตำแหน่งว่าที่อธิบดีผู้พิพากษาศาลมณฑลสุราษฎร์ธานี
พ.ศ. 2462  ย้ายไปเป็นผู้ว่าอธิบดีผู้พิพากษาศาลมณฑลปัตตานี และในปีนี้ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ จตุรถาภรณ์ช้างเผือก และเลื่อนเป็นอำมาตย์เอก
พ.ศ. 2463  ได้เลื่อนตำแหน่งเป็นอธิบดีผู้พิพากษาศาลมณฑลปัตตานี และได้รับพระราชทานเลื่อนบรรดาศักดิ์เป็น พระยาลพะนรินทร์เรืองศักดิ์
พ.ศ. 2465  ย้ายเข้ามารับราชการในตำแหน่งผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ กรุงเทพฯ และได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ตริตาภรณ์มงกุฎสยาม
พ.ศ. 2466 ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ตติยจุลจอมเกล้าวิเศษ
พ.ศ. 2467  ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์  ตริตาภรณ์ช้างเผือก
พ.ศ. 2471 ได้รับพระราชทานเหรียญจักรพรรดิมาลา
พ.ศ. 2472 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ย้ายไปรับราชการในตำแหน่งอธิบดีผู้พิพากษาศาลพระราชอาญา และได้รับพระราชทานยศเป็นมหาอำมาตย์ตรี
พ.ศ. 2473   ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์  ทวีติยาภรณ์มงกุฎสยาม
พระยาลพะนรินทร์เรืองศักดิ์ ทำการสมรสกับคุณหญิงเสริม ลพะนรินทร์เรืองศักดิ์ ( โชติกเสถียร ) ธิดาพระยาพิพิธภัณฑ์วิจารณ์ ( เจริญ โชติกเสถียร ) ไม่มีบุตรและธิดา
มีนาคม 2473 ล้มป่วยตลอดมา จนถึง 10 เมษายน 2474 ถึงแก่อนิจกรรม ด้วยโรคไข้รากน้อย สิริรวมอายุได้ 47  ปี 1 เดือน 18 วัน ได้รับพระราชทานเพลิงศพในปีเดียวกัน
รองอำมาตย์เอก หลวงชนานุกูลกิจ ( จวง  จารุจินดา )
หลวงชนานุกูลกิจ ( จวง  จารุจินดา ) เป็นบุตร เจ้าพระยาสุรบดินทรสุริทรฦาไชย ( พร  จารุจินดา ) และคุณหญิงบุญรอด สุรบดินทรสุริทรฦาไชย ( วัชราภัย ) เกิดเมื่อ พ.ศ. 2429 มีพี่น้องร่วมมารดาเดียวกัน 2 คน พี่น้องร่วมบิดา 10 คน
เริ่มรับราชการเป็นนายทะเบียนบางรัก จังหวัดพระนคร มณฑลกรุงเทพฯ เมื่อ พ.ศ. 2451 ระยะหนึ่ง แล้วเลื่อนขึ้นดำรงตำแหน่งนายอำเภอบางรัก จังหวัดพระนคร มณฑลกรุงเทพฯ จนถึง พ.ศ. 2473 ต่อมาปี พ.ศ.  2474 ย้ายไปรับตำแหน่งปลัดจังหวัดชัยนาท แล้วย้ายมาดำรงตำแหน่งปลัดจังหวัดปทุมธานี
รับราชการได้ประมาณ 25 ปีเศษ ได้ลาออกจากราชการ พอปีกว่า ๆ ใน พ.ศ. 2480 ก็เข้ารับราชการใหม่เป็นนายทะเบียนท้องถิ่นแขวงปทุมวัน จังหวัดพระนคร
หลวงชนานุกูลกิจ  มีภรรยา 2 คน
คุณสงวน  ( ณ สงขลา )    มีบุตรและธิดา 6 คน
คุณชุ่ม                          มีบุตรและธิดา 6 คน
หลวงชนานุกูลกิจ ถึงแก่กรรมเมื่อ วันที่ 21 สิงหาคม 2487 อายุประมาณ 58 ปี ได้จัดการปลงศพที่วัดสุคันธาราม อำเภอดุสิต จังหวัดพระนคร ในวันรุ่งขึ้น 22 สิงหาคม 2487 เป็นการเร่งด่วนตามคำบัญชาของท่านบิดา เพื่อความปลอดภัยเพราะภาวะการณ์อยู่ในระหว่างสงครามมหาเอเชียบูรพา กรุงเทพฯ ถูกโจมตีทิ้งระเบิดบ่อยครั้งขึ้น