พระยาสุเรนทรราชเสนา ( เจิม จารุจินดา ) เป็นบุตรพระยารัตนสมบัติ ( แป๊ะ จารุจินดา ) และ คุณเปลี่ยน จารุจินดา มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน 12 คน มีพี่น้องร่วมบิดา 9 คน
พระยาสุเรนทรราชเสนา เริ่มแรกรับราชการเมื่ออายุ 15 ปี ในกรมสรรพากร กรุงเทพฯ ต่อมาได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น ขุนอาทรธนพัฒน์ ภายหลังย้ายไปรับราชการในต่างจังหวัดหลายจังหวัด  ตามหัวเมืองทางภาคเหนือ  เช่น เชียงใหม่ เชียงราย ลำปาง น่าน ลำพูน ต่อมาได้โอนไปรับราชการในกระทรวงมหาดไทย ดำรงตำแหน่งปลัดมณฑล ประจำจังหวัดน่าน ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น พระอาทรธนพัฒน์ ต่อมาย้ายมาเป็นปลัดมณฑลประจำจังหวัดลำปางและได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น พระยาสุเรนทรราชเสนา คงรับราชการอยูที่จังหวัดลำปางเรื่องมา ตั้งแต่ พ.ศ. 2453 – 2474
ในระหว่างที่ปฏิบัติราชการอยูที่จังหวัดลำปางนั้น ได้มีโอการเป็นหัวหน้ารับเสด็จพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อเสด็จพระราชดำเนินเลียบมณฑลฝ่ายเหนือและมลฑลพายัพ พ.ศ. 2468 ตามหลักฐานจากหนังสือมณฑลที่ 7  ได้เล่าไว้ว่า
“ … วันที่ 10 มกราคม พุทธศักราช 2469 เวลา 8.00 นาฬิกา รถไฟพระที่นั่งออกจากสถานีเด่นชัย และถึงสถานีเมืองนครลำปาง เวลา 13.00 นาฬิกา ที่สถานีมีเจ้านายพื้นเมือง ข้าราชการฝ่ายทหาร พลเรือน กงสุลและชาวต่างประเทศ พ่อค้าราษฎรชายหญิงมาคอยเฝ้ารับเสด็จอยู่มากหลาย ที่เป็นหัวหน้าและชั้นผู้ใหญ่ฝ่ายราชการ คือ นายพลตรี พระยาอมรวิสัยสรเดช ผู้บัญชาการกองพลทหารบกที่ 8 มหาอำมาตย์ตรี พระยาสุเรนทรราชเสนา ปลัดมณฑลประจำจังหวัดลำปาง … พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพร้อมด้วยสมเด็จพระบรมราชินี เสด็จจากรถไฟพระที่นั่ง กองทหารเกียรติยศถวายความเคารพ แตรวงบรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมี มหาอำมาตย์โทพระยาราชนุกูล กราบบังคมทูลเบิก มหาอำมาตย์ตรีพระยาสุเรนทรราชเสนา ปลัดมณฑลประจำจังหวัดลำปาง เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท แล้วมหาอำมาตย์ตรี พระยาสุเรนทรราชเสนา นำเครื่องบูชา 5 อย่าง กราบบังคมทูลเสด็จเข้าเมือง …
… วันที่ 11 มกราคม พุทธศักราช 2469 เป็นวันกำหนดที่จะเสด็จพระราชทาน พระแสงราชศัสตรา ณ ศาลากลางจังหวัด เวลา 16.30 นาฬิกา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเครื่องเต็มยศราชการสนาม ประดับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ทรงสอดสายสะพายจักรีบรมราชวงศ์ พร้อมด้วยสมเด็จพระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินโดยขบวนรถพระที่นั่ง จากพลับพลาประทับแรมโรงทหาร พร้อมด้วยเจ้านาย ข้าราชการผู้ใหญ่ตามเสด็จ
พอพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระบรมราชินี ประทับพระราชอาสน์แล้ว สมุหเทศาภิบาล เปิดกรวยกระทงดอกไม้ เป็นการนำเจ้านาย ข้าราชการ และประชาชนจังหวัดลำปางทั้งชายและหญิง ทูลเกล้าฯ ถวายดอกไม้ธูปเทียนแล้ว มหาอำมาตย์ตรี พระยาสุเรนทรราชเสนา ปลัดมณฑลประจำจังหวัดลำปาง อ่านคำกล่าวบังคมทูลถวายพระพรชัยมงคล เมื่อจบแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำรัสตอบ แล้วจึงพระราชทานพระแสงราชศัตรา พระยาสุเรนทรราชเสนา เข้าไปรับพระราชทานจากพระหัตถ์ ทันใดนั้น พระสงค์มีพระเทพมุนี เป็นประธานสวดชยันโต ข้าราชการและผู้ที่เฝ้าอยู่ ณ ที่นั้น พร้อมกันเปล่งเสียงไชโย  พิณพาทย์บรรเลงเพลงสาธุการ ครั้นจบลง พระยาสุเรนทรราชเสนา กราบบังคมพระกรุณาแสดงความสวามิภักดิ์ในนามเจ้านาย ข้าราชการและประชาชนชาวจังหวัดลำปาง นำธารพระกร ซึ่งเจ้านาย ข้าราชการ และประชาชนชาวจังหวัดนี้สร้างขึ้นสำหรับทูลเกล้าฯ ถวายสมเด็จพระบรมราชินี เสร็จแล้วทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ทวีติยาภรณ์มงกุฏสยาม แก่พระยาสุเรนทรราชเสนา…”
พฤษภาคม 2474 พระยาสุเรนทรราชเสนา ได้ขอพระราชทานกราบบังคมทูลสมเด็จพระเจ้าพี่ยาเธอ เจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิต เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย มีความว่า “… เมื่อปลายปี 2468 ข้าพระพุทธเจ้าได้ยื่นหนังสือขอลาพักราชการ ขอรับพระราชทานเบี้ยบำนาญเลี้ยงชีพ… แต่เวลานั้นประจวบกับที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะเสด็จเลียบมณฑลฝ่ายเหนือ กระทรวงจึงงดการพิจารณาใบลาของข้าพระพุทธเจ้าไว้ชั่วคราว… ต่อมาเมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จฝ่ายเหนือ และข้าพระพุทธเจ้าได้จัดการรับเสด็จฉลองพระเดชพระคุณที่จังหวัดเรียบร้อยแล้ว ข้าพระพุทธเจ้าได้กราบเรียนเตือนเท่านพระยาราชนุกูล สมุหเทศาภิบาล... คงได้รับตอบแต่เพียงว่า กระทรวงยังดำริอยู่เรื่องมา...
... เป็นการสมควรที่ข้าพระพุทธเจ้า ขอพระราชทานโอกาสกราบบังคมทูลถวายความสัตย์จริงต่อใต้ฝ่าละอองพระบาทว่า การที่ข้าพระพุทธเจ้า จะขอรับพระราชทานออกจากราชการประจำ เพื่อรับพระราชทานเบี้ยบำนาญนี้ ก็เนื่องด้วยข้าพระพุทธเจ้ามีอายุถึง 57 ปี อยู่ในเกณฑ์ชราภาพ ด้วยกำลังวังชาและสติปัญญาของข้าพระพุทธเจ้าเสื่อมทรามลงเป็นลำดับ อนึ่งข้าพระพุทธเจ้าก็มีโรคภัยประจำตัวคอยเบียดเบียนอยู่เสมอ เป็นเหตุให้ข้าพระพุทธเจ้าได้รู้สึกตัวดีว่า คงไม่สามารถรับราชการสนองพระเดชพระคุณต่อไปได้ด้วยดีเช่นกาลก่อน ก็ด้วยความภักดีโดยสุจริตต่อ ชาติ ศาสนา พระมหากษัตรย์ นี่แหละ จึงเป็นการจำเป็นอยู่เองที่ข้าพระพุทธเจ้าจะต้องกระทำตนมิให้เป็นผู้กีดขวางความเจริญของบ้านเมือง เปิดช่องให้บุคคลที่อยู่ในวัยสามารถได้มีโอกาสรับพระราชทานภาระกิจแทนข้าพระพุทธเจ้าสืบไป ใช่ว่าข้าพระพุทธเจ้าจะคิดหลีกเลี่ยงโดยเห็นแก่ประโยชน์สุขส่วนตัวฝ่ายเดียวมิได้เลย ความสัตย์จริงของข้าพระพุทธเจ้าดังนี้ อาจพิสูจน์ได้จากการที่ข้าพระพุทธเจ้าได้ทนตรากตรำฉลองพระเดชพระคุณมาเป็นเวลานานถึง 40 กว่าปีแล้ว ...”
ที่จังหวัดลำปางนี้ ท่านได้อุทิศที่ดินมอบให้แก่ทางราชการจัดสร้าง “ สถานีตำรวจภูธรสบตุ๋ย ” ซึ่งยังคงปรากฏอยู่จนทุกวันนี้ และด้วยคุณงามความดีของท่านที่ปรากฏแก่จังหวัดและประชาชนชาวลำปาง ทางราชการและประชาชนจึงพร้อมใจกันให้ชื่อถนนจากห้าแยกเชียงรายไปสถานีรถไฟสบตุ๋ย (ผ่านหน้าบ้าน “เจิมสุข” ) เพื่อเป็นอนุสรณ์แก่ท่านว่า “ ถนนสุเรนทร ”
พระยาสุเรนทรราชเสนา มีภรรยา 4 คน
1. คุณสอาด ( จารุจินดา ) มีบุตรธิดา 3 คน
2. คุณสุนันทา   มีธิดา 1 คน
3. ม.ร.ว. เปล่ง  ( ทินกร ) มีธิดา 3 คน
4. ม.ร.ว. หญิง ปรุง ( ทินกร ) มีบุตรและธิดา 4 คน
     เมื่อพระยาสุเรนทรราชเสนา ได้กราบถวายบังคมลาออกจากราชการแล้วใน พ.ศ. 2474 ท่านก็ได้พำนักอยู่ที่“บ้านเจิมสุข” ตำบลสบตุ๋ย อำเภอเมือง จังหวัดลำปาง ตลอดมา จนถึงแก่อนิจกรรม เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2485 ประมาณอายุได้ 70 ปี ได้รับพระราชทานเพลิงศพที่จังหวัดลำปาง