เจ้าพระยาสุรบดินทรสุรินทรฦาไชย (พร จารุจินดา) เป็นบุตรพระยาเพชรพิไชย (ทองจีน จารุจินดา) และคุณหญิงเย็น เพชรพิไชย (เกตุทัต) เกิดเมื่อวันที่ ๒ ธันวาคม ๒๔๐๖ มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน ๑๐ คน มีพี่น้องร่วมบิดา ๑ คน

         เมื่ออายุ ๑๑ ปี ได้เข้าศึกษาในโรงเรียนพระบรมมหาราชวังและในโรงเรียนสวนนันทอุทยาน เมื่อสำเร็จการศึกษาแล้วได้เข้ารับราชการสนองพระเดชพระคุณพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รับพระราชทานสัญญาบัตรเป็น นายรองฉัน มหาดเล็กเวรศักดิ์ เมื่อวันที่ ๒๗ ตุลาคม พ.ศ.๒๔๒๘

๑๔ ตุลาคม ๒๔๒๙ เลื่อนเป็น จ่าห้าวยุทธการ ในกรมพระตำรวจขวา (ได้ขี่ม้ารำทวนถวายทอดพระเนตรหน้าพลับพลา ในงานพระเมรุสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทา คู่กับ คุณพิณเทพเฉลิม บุนนาค)

พ.ศ.๒๔๓๐ ย้ายไปรับราชการกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ ในตำแหน่งผู้ช่วยเจ้าจำนวน

พ.ศ.๒๔๓๒ ไปเป็นเจ้ากรมยาฝิ่นหลวง

พ.ศ.๒๔๓๓ ไปเป็นเจ้ากรมสารบรรณ กระทรวงพระคลังมหาสมบัติ ได้ทำการแทนปลัดทูลฉลองฯ เป็นครั้งคราว

๑ พฤศจิกายน ๒๔๓๔ เลื่อนบรรดาศักดิ์เป็น พระศิริไอสวรรย์ ตำแหน่งเดิม

พ.ศ.๒๔๓๗ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ไปรับราชการในกระทรวงมหาดไทย เป็นข้าหลวงรักษาการเมืองนครนายก

พ.ศ.๒๔๓๘ ย้ายไปเป็นข้าหลวงเมืองฉะเชิงเทรา

พ.ศ.๒๔๓๙ ย้ายมาเป็นเลขานุการของเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย

๒ มกราคม ๒๔๔๐ เลื่อนบรรดาศักดิ์เป็น พระยาอุทัยมนตรี ตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดปราจีนบุรี

๒๑ มิถุนายน ๒๔๔๑ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ย้ายไปเป็นข้าหลวงประจำนครลำพูน

พ.ศ.๒๔๔๕ ย้ายไปเป็นข้าหลวงประจำนครลำปาง ในระยะเวลาเกิดขบถเงี้ยว ได้รักษาบ้านเมืองไว้ได้เรียบร้อย จนเสร็จการจราจล

พ.ศ.๒๔๔๙ ย้ายไปเป็นข้าหลวงนครน่าน และในปีเดียวกันนั้นได้เลื่อนขึ้นเป็นสมุหเทศาภิบาลมณฑลพิษณุโลก

พ.ศ.๒๔๕๔ ได้รับพระราชทานยศเป็น มหาอำมาตย์ตรี

พ.ศ.๒๔๕๕ ได้เลื่อนบรรดาศักดิ์เป็น พระยาสุรบดินทรสุรินทรฦาไชย

๔ เมษายน ๒๔๕๘ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็น องคมนตรี

๑๑ กรกฎาคม ๒๔๕๘ ได้รับพระราชทานยศเป็น มหาเสวกตรี

๒๘ ตุลาคม ๒๔๖๔ ย้ายไปรับราชการแทนอุปราชมณฑลพายัพ เมื่อเวลาทรงประชวร (พระองค์เจ้าบวรเดช)

๑ สิงหาคม ๒๔๖๕ เป็นอุปราชมณฑลพายัพ

๑๑ พฤศจิกายน ๒๔๖๘ เลื่อนบรรดาศักดิ์เป็น เจ้าพระยาสุรบดินทรสุรินทรฦาไชย ดำรงศักดินา ๑๐๐๐๐

๑ เมษายน ๒๔๖๙ เนื่องแต่การแก้ไขเศรษฐกิจตกต่ำในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ย้ายเข้ามาเป็นสมุหพระนครบาล ในกรุงเทพฯ และโปรดเกล้าฯ ให้เป็นผู้แทนปลัดกระทรวงมหาดไทย อีกตำแหน่งหนึ่งด้วย

๔ เมษายน ๒๔๖๙ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตั้งให้เป็นองคมนตรี

๒๒ พฤษภาคม ๒๔๖๙ ได้รับพระราชทานยศเป็น มหาเสวกโท

๑๐ พฤษภาคม ๒๔๗๑ กราบถวายบังคมลาออกจากราชการ เพราะชรา ได้รับพระราชทานบำนาญพิเศษ

เจ้าพระยาสุรบดินทรสุรินทรฦาไชย ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ดังนี้

            พ.ศ.๒๔๓๓        เบญจมาภรณ์มงกุฎไทย

            พ.ศ.๒๔๔๐        จตุรถาภรณ์ช้างเผือก

            พ.ศ.๒๔๔๗        ตริตาภรณ์มงกุฎไทย

            พ.ศ.๒๔๕๔        ตริตาภรณ์ช้างเผือก

            พ.ศ.๒๔๕๕        ทุติยจุลจอมเกล้า

            พ.ศ.๒๔๕๖        ทวีติยาภรณ์ช้างเผือก

            พ.ศ.๒๔๕๗        ประถมาภรณ์มงกุฎไทย

            พ.ศ.๒๔๕๘        ทุติยจุลจอมเกล้าวิเศษ

            พ.ศ.๒๔๖๐        ประถมาภรณ์ช้างเผือก

            พ.ศ.๒๔๖๘        ปฐมจุลจอมเกล้า

ได้รับพระราชทานเหรียญและเข็ม คือ

            พ.ศ.๒๔๓๖        เหรียญรัชฎาภิเศก

            พ.ศ.๒๔๔๐        เหรียญประพาศมาลา

            พ.ศ.๒๔๔๗        เหรียญทวีธาภิเศก ทอง

            พ.ศ.๒๔๕๐        เหรียญรัชมงคล ทอง

            พ.ศ.๒๔๕๑        เหรียญรัชมังคลาภิเศก

            พ.ศ.๒๔๕๒        เข็มพระชนมายุศม์

            พ.ศ.๒๔๕๓        เหรียญรัตนาภรณ์ ว.ป.ร. ชั้น ๓

            พ.ศ.๒๔๕๔        เหรียญบรมราชาภิเษก ร.๖ ทอง

            พ.ศ.๒๔๕๔        เข็มไอยราพต

            พ.ศ.๒๔๕๕        เข็มข้าหลวงเดิม

            พ.ศ.๒๔๕๗        เหรียญจักรพรรดิมาลา

            พ.ศ.๒๔๖๕        เหรียญรัตนาภรณ์ ว.ป.ร. ชั้น ๒

            พ.ศ.๒๔๖๘        เหรียญบรมราชาภิเษก ร.๗ ทอง

            พ.ศ.๒๔๙๓        เหรียญบรมราชาภิเษก ร.๘ ทอง

         พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงคุ้นเคยกับเจ้าพระยาสุรบดินทรสุรินทรฦาไชย จนสนิทชิดชอบในพระราชอัธยาศัย มาตั้งแต่ยังดำรงพระยศเป็นสมเด็จพระยุพราช ด้วยเจ้าพระยาสุรบดินทรสุรินทรฦาไชย ได้เคยจัดการรับเสด็จประพาสเมืองพระร่วง ในมณฑลพิษณุโลก ได้จัดการรับเสด็จพระราชดำเนินตลอดทางจนถึงกรุงเทพมหานคร และเมื่อครั้งเสด็จพระราชดำเนินเปิดทางรถไฟตอนอุตรดิตถ์ ก็ได้จัดการรับเสด็จอีกครั้งหนึ่ง ครั้นเมื่อเสด็จขึ้นครองราชสมบัติแล้ว เสด็จพระราชดำเนินสมโภชพระพุทธชินราช จังหวัดพิษณุโลก ก็ได้จัดการรับเสด็จเป็นที่พอพระราชหฤทัย ทรงประจักษ์แจ้งในความจงรักภักดีของเจ้าพระยาสุรบดินทรสุรินทรฦาไชยตลอดมา

         เจ้าพระยาสุรบดินทรสุรินทรฦาไชย ได้รับพระราชทานให้ร่วมโต๊ะเสวยสมเด็จพระพันปีหลวง ในรัชกาลที่ ๖ เมื่อทรงบำเพ็ญพระราชกุศลพระชันษา ๔ รอบ ในฐานะพระสหชาติและได้รับพระราชทานสิ่งของที่ระลึกเป็นรูปตราหมู่ (ปีกุน) ครบชุด

ชีวิตในการปฏิบัติรับราชการนั้น เจ้าพระยาสุรบดินทรสุรินทรฦาไชย ได้ใช้สติปัญญาความสามารถกอร์ปด้วยความอุตสาหะวิริยะ มีความชอบความดีมาก เป็นที่นิยมรักใคร่ของประชาชน เมื่อสมัยเป็นสมุหเทศาภิบาลมณฑลพิษณุโลก ได้จัดการสอนให้ราษฎรทำมาหากินด้วยการปลูกฝ้าย ทอผ้า เลี้ยงสัตว์ เป็นต้น ให้นักโทษในเรือนจำสร้างเครื่องทอผ้าชนิดกี่กระตุกขึ้น ราษฎรผู้ใดทอได้ก็ให้รางวัล ๑ เครื่อง ได้จัดให้มีการประกวดกสิกรรมและหัตถกรรมขึ้นในมณฑล เมื่อสมัยเป็นอุปราชมณฑลพายัพ ท่านได้ใช้นโยบายการปกครอง มุ่งหน้าพัฒนาปรับปรุงการกสิกรรมและการเกษตรของประชาชนพลเมือง ได้นำพันธุ์สุกรดีๆ ไปให้ราษฎรเลี้ยง ให้ปลูกต้นหม่อนเพื่อใช้เลี้ยงไหมมากๆ อันจะได้ไหมทอผ้าแทนที่จะซื้อจากต่างประเทศ ได้ตั้งสวนทดลองขึ้นที่ตำบลแม่โจ้ ปลูกผักเมืองหนาว ให้เป็นตัวอย่างแก่ราษฎร สนับสนุนการปลูกข้าว ปรับปรุงการล้อมรั้วบ้าน การสร้างครกมอง หลวงข้าว เล้าไก่ เล้าหมู ให้ทำกันอย่างจริงจัง การปกครองของท่านนั้นใช้พระคุณมากกว่าพระเดช และวางตนให้เป็นที่ยำเกรงของผู้น้อย ด้านการบริหารอื่นๆ ในส่วนจังหวัดก็เรียบร้อย ข้าราชการทุกฝ่ายปฏิบัติงานอย่างเข้มแข็ง จริงจัง ซื่อสัตย์ สุจริต การปราบปรามโจรผู้ร้ายสงบและเบาบางลง เหตุร้ายอุกฉกรรจ์ไม่ค่อยมี ทางด้านการศึกษาก็ก้าวหน้าขึ้นเป็นลำดับ ลูกหลานชาวเชียงใหม่ได้เข้าเรียน “โรงเรียนยุพราชวิทยาลัย” มากขึ้น แม้ชนบทต่างจังหวัดก็ส่งเข้ามาเรียนในโรงเรียนแห่งนี้ ซึ่งสมัยนั้นเรียกว่า “โรงเรียนประจำมณฑลพายัพ” ในยุคของท่านนี้ได้ดำเนินตามพระราโชบายของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว แทบทุกอย่าง มีการแข่งขันฟุตบอล ทำให้ข้าราชการทหาร ตำรวจ และพลเรือนมีความสามัคคีกันดีมาก อันเป็นเหตุให้กีฬาฟุตบอลได้แพร่หลายในมณฑลพายัพแทบทุกจังหวัด นอกจากนั้น ยังจัดให้มีการแสดงละครพูดตามพระราโชบาย กล่าวได้ว่า กรุงเทพฯ ทำอย่างไร พระนครเชียงใหม่ก็ทำแบบนั้นทุกประการ

         ในส่วนราชการเสือป่า เจ้าพระยาสุรบดินทรสุรินทรฦาไชย ได้สมัครเข้าเป็นสมาชิกแต่แรกตั้ง ได้เอาใจใส่ในหน้าที่อย่างดี ทำให้การดำเนินราชการทางเสือป่าเจริญมาเป็นลำดับ ได้ดำริวางแบบแผนในการฝึกหัดสั่งสอน ทั้งวางข้อบังคับลักษณะการปกครองในกองเสนาเรียบร้อยกว่าเดิม ทั้งรู้จักปลุกใจให้พลเรือนสมัครเข้าเป็นเสือป่าจำนวนมาก ท่านได้รับพระราชทานเลื่อนยศทางเสือป่ามาเป็นลำดับ

พ.ศ.๒๔๕๕        เป็นนายหมู่ใหญ่ เสือป่า

พ.ศ.๒๔๕๖        เป็นนายกองตรี เสือป่า

พ.ศ.๒๔๕๘        เป็นนายกองโท เสือป่า

พ.ศ.๒๔๕๙        เป็นนายกองเอก เสือป่า

๒ ธันวาคม ๒๔๖๑ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็นอัศวินแห่งเครื่องราชอิสริยาภรณ์ อันมีศักดิ์ รามาธิบดี

๓๐ ธันวาคม ๒๔๖๑ เป็นนายกองใหญ่ เสือป่า

๒๗ กุมภาพันธ์ ๒๔๖๖ เป็นนายพล เสือป่า (ผู้บัญชาการกองเสนารักษาดินแดน ภาคพายัพ) และราชองครักษ์

         เจ้าพระยาสุรบดินทรสุรินทรฦาไชย มีภรรยา ๔ คน

            - คุณแฉ่ง มีธิดา ๒ คน

            - คุณหญิงบุญรอด (วัชราภัย) มีบุตร ๓ คน

            - คุณหญิงเพิ่ม (จารุจินดา)  มีบุตรธิดา ๒ คน

            - คุณหญิงชอุ่ม (คุปตารักษ์) มีบุตรธิดา ๖ คน

         เจ้าพระยาสุรบดินทรสุรินทรฦาไชย เมื่อออกจากราชการแล้ว พำนักอยู่ในกรุงเทพฯ ตลอดมา เมื่อวันที่ ๒๔ มกราคม ๒๔๙๘ เริ่มป่วยด้วยโรคหัวใจ ถึงกับลุกไม่ได้ อาการทรงกับทรุดเรื่อยมา เมื่อวันที่ ๑๔ สิงหาคม ๒๔๙๘ มีไข้สูง และได้ถึงแก่อนิจกรรมเมื่อวันที่ ๑๗ สิงหาคม ๒๔๙๘ สิริรวมอายุได้ ๙๑ ปี ๘ เดือน ๑๕ วัน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานน้ำหลวงอาบศพ พร้อมโกศแปดเหลี่ยม ฉัตรเบญจาตั้งประดับเกียรติยศ และได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเพลิงศพ ณ เมรุหลวงหน้าพลับพลาอิสริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส เมื่อวันที่ ๑๙ ตุลาคม ๒๔๙๘ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จพระราชดำเนินไปพระราชทานเพลิงศพ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานผ้าไตรของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ๕ ไตร และของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ๕ ไตร ให้ทายาทนำไปทอดที่โกศศพ พระสงฆ์ ๑๐ รูปบังสุกุล เสร็จแล้วทรงจุดฝักแคพระราฃทานเพลิง

         ร้อยโท พระอภิรักษ์ราชอุทยาน (ถม จารุจินดา) เป็นบุตรพระยาเพชรพิไชย (ทองจีน จารุจินดา) และคุณหญิงเย็น เพชรพิไชย (เกตุทัต) มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน ๑๐ คน พี่น้องร่วมบิดา ๑ คน

         ตามที่ทราบ ร้อยโท พระอภิรักษ์ราชอุทยาน ถึงแก่กรรมเมื่ออายุประมาณ ๒๙ – ๓๐ กว่าปีเท่านั้น หลักฐานเท่าที่พบขณะนี้ ปรากฎว่า เป็นมหาดเล็กในรัชกาลที่ ๕ เมื่อ พ.ศ.๒๔๑๕ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็นจ่าห้าวยุทธการ ในกรมพระตำรวจขวา ถือศักดินา ๖๐๐ จากนั้นไม่ได้หลักฐานอะไรเพิ่มเติม

         ร้อยโท พระอภิรักษ์ราชอุทยาน มีภรรยา ๒ คน

                        คนแรกไม่ทราบชื่อ มีบุตรธิดา ๒ คน

                        คุณจันทร์ (วรวิเศษ) มีบุตร ๑ คน

         ไม่ทราบวันเกิดและวันถึงแก่กรรม

         พระยาเพชรพิไชย (ทองจีน จารุจินดา) เป็นบุตรของ จมื่นราชนาคา (พิณ) รับราชการในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นจางวางกรมล้อมพระบรมมหาราชวัง ในปลายรัชกาลที่ ๓ นี้เป็น หลวงสวัสดิ์โกษา ครั้นมาต้นรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เลื่อนเป็นหลวงอินทรโกษา และพระรัตนโกษา

พ.ศ.๒๔๑๙ ได้เลื่อนเป็น พระยารัตนโกษา เจ้ากรมขวาในกรมพระคลังสินค้า ต่อมาได้โปรดเกล้าฯ เป็น พระยาเพชรพิไชย

พ.ศ.๒๔๒๒ ได้เป็นอุปทูตไทยประจำสถานทูดในประเทศอังกฤษ

พ.ศ.๒๔๒๔ ได้เป็นพระยายืนชิงช้า

พ.ศ.๒๔๓๐ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ไปรับตำแหน่งข้าหลวงประจำเมืองเชียงใหม่ สืบแทนพระยามนตรีสุริยวงศ์ (ชื่น บุนนาค) ดำรงตำแหน่งอยู่ถึง พ.ศ.๒๔๓๑ ได้รับการยกย่องว่า เป็นผู้ปลดแอกผ่อนคลายภาษีให้แก่ประชาชนชาวเชียงใหม่ ล้างอิทธิพลข้าราชการที่กอบโกย แก้สถานการณ์ในทุกอย่างของเชียงใหม่ให้ดีขึ้น เพราะท่านรู้และเข้าใจในสถานการณ์เหล่านั้นในระยะนั้นเป็นอย่างดี อย่างไรก็ตาม จากการแก้สถานการณ์ร้ายให้กลายเป็นดีนั้น ได้เกิดความไม่พึงพอใจให้แก่ชนกลุ่มหนึ่งที่ต้องเสียผลประโยชน์ จึงถูก “ของแข็ง” เข้าหลายรูปแบบ จนถูกเรียกกลับเข้ามารับราชการในกรุงเทพฯ

พ.ศ.๒๔๔๖ พระยาเพชรพิไชย เจ้าจอมลิ้นจึ่ในรัชกาลที่ ๕ และเจ้าพระยาสุรบดินทรสุรินทรฦาไชย ได้บริจาคที่ดินจำนวน ๑๗ ไร่ ๓ งาน ๔๔ ตารางวา (ปัจจุบันอยู่ที่บ้านเลขที่ ๑๕๔ ซอยอ่อนนุช หมู่ที่ ๕ แขวงทับยาว เขตลาดกระบัง กทม.) เพื่อสร้างวัด “พระยาเพชรพิไชย” ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น “วัดราชโกษา” สาเหตุที่เปลี่ยนเพราะทางเจ้าอาวาสในสมัยนั้น คิดว่า พระยาเพชรพิไชย ได้เลื่อนบรรดาศักดิ์เป็น พระยาราชโกษา

         พระยาเพชรพิไชย ได้สมรสกับคุณหญิงเย็น เพชรพิไชย ซึ่งเป็นธิดาของพระยาเพชรพิไชย (หนู เกตุทัต) และคุณหญิงแจ่มเพชรพิไชย มีบุตรธิดา ๑๑ คน

 

         พระยาเพชรพิไชย มีบุตรด้วยภรรยาที่ ๒ อีก เป็นชายชื่อ คล้าย ต่อมาเป็นขุนวิสูตร

         พลโท พลเรือตรี พระยาเทพอรชุน (เจ๊ก จารุจินดา) เป็นบุตรของพระยาเพชรพิไชย (ทองจีน จารุจินดา) และคุณหญิงเย็น เพชรพิไชย (เกตุทัต) เกิดเมื่อวันที่ ๒๙ กรกฎาคม พ.ศ.๒๓๙๕ มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน ๑๐ คน มีพี่น้องร่วมบิดา ๑ คน

เมื่ออายุ ๑๐ ปี ท่านบิดาได้จ้างครูมาสอนหนังสือไทยที่บ้าน และเล่าเรียนในการช่างทองในสำนักของท่านบิดาด้วย

ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พ.ศ.๒๔๐๙ อายุ ๑๕ ปี ได้ถวายตัวเป็นมหาดเล็กวิเศษ ทำราชการสนองพระเดชพระคุณอยู่ในเวรศักดิ์

พ.ศ.๒๔๑๒ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ไปหัดทวนหัวง้าวหลังม้าที่สำนักพระราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสิงหนารถ เป็นคู่ทวนคู่ง้าวกับเจ้าพระยาเทเวศร์วงษ์วิวัฒน์ (ม.ร.ว.หลาน กุญชร) ฝึกหัดอยู่ประมาณ ๑๐ เดือน ได้ออกงานถวายตัวในการพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่สนามหน้าพลับพลาพระเมรุ ท้องสนามหลวง ทุกวันตลอดงาน

เมษายน ๒๔๑๓ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ฝึกหัดวิชาทหารเป็นทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ ได้เข้าฝึกหัดในสำนัก นายพันตรี หลวงรัตนรณยุพธ์ และมิสเตอร์เบิค ชาวอังกฤษ ฝึกหัดอยู่หลายเดือน จึงเข้ารับราชการเป็นทหารมหาดเล็ก หมู่ที่ ๑ ต่อมาทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เลื่อนยศเป็นนายสิบเอก (พระราชทานหีบถม ๑ หีบ) ได้ตามเสด็จพระราชดำเนินพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวประพาสเมืองสิงคโปร์ เมืองเบตาเวีย และเมืองสมารัง (ชวา) เมื่อ ๙ มีนาคม ๒๔๑๓ – ๑๕ เมษายน ๒๔๑๔

๕ สิงหาคม ๒๔๑๔ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานสัญญาบัตร เลื่อนตำแหน่งยศเป็นนายร้อยตรี หลวงสรจักรานุกิจ ถือศักดินา ๖๐๐ บังคับกองร้อยที่ ๓ ในกรมทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ (ได้รับพระราชทานเครื่องยศ โต๊ะถม ๑ กาถม ๑ กระโถน ๑ และลองปักล่องจวน ๑ พก)

๑๖ ธันวาคม ๒๔๑๔ – ๑๖ มีนาคม ๒๔๑๕ ได้ตามเสด็จพระราชดำเนินพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประพาสอินเดีย ได้แวะเมืองสิงคโปร์ เกาะปีนัง และเมืองร่างกุ้ง (พม่า) รวมทั้งหัวเมืองขึ้น ขอบขัณฑสีมาของกรุงสยามชายฝั่งทะเลตะวันตก

มิถุนายน ๒๔๑๖ ได้กราบถวายบังคมลาอุปสมบทเป็นภิกษุ ที่วัดราชบพิตรสถิตมหาสีมาราม สมเด็จพระวันรัต (ทับ) เป็นพระอุปัชฌายะ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอรุณนิภาคุณาภรณ์ และสมเด็จพระสังฆราช (สา) เป็นพระอนุกรรมวาจา ได้ลาสิกขาเมื่อ ๑๙ ตุลาคม ๒๔๑๖ กลับเข้ารับราชการสนองพระเดชพระคุณในตำแหน่งเดิม

๙ พฤศจิกายน ๒๔๑๖ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานสัญญาบัตร เลื่อนตำแหน่งยศให้เป็นนายร้อยโท จมื่นวิชิตไชยศักดาวุธ คงบังคับการในกองร้อยที่ ๓ ตามเดิม ภายหลังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ยกทั้งกองร้อยที่ ๓ ไปฝึกหัดรับราชการเป็นมหาดเล็กรักษาพระองค์ปืนแคตริงตัน

พ.ศ.๒๔๑๘ ทราบว่าจะโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาภูธราภัย ที่สมุหนายก จัดยกทัพขึ้นไปปราบปรามพวกฮ่อตามหัวเมืองชายพระราชอาณาจักร พระยาเทพอรชุนจึงได้คิดทำกระติกเหล็กวิลาสเป็น ๒ ชั้น ชั้นบนสำหรับใส่น้ำ ชั้นล่างสำหรับใส่ของบริโภค หนึ่งหมื่นกระติกขึ้นทูลเกล้าถวาย เพื่อจะได้พระราชทานแก่กองทัพซึ่งจะขึ้นไปราชการทัพทั่วทุกคน

๑๗ สิงหาคม ๒๔๑๘ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราฃทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎสยาม ชั้นที่ ๔ (วิจิตราภรณ์) เป็นบำเหน็จความชอบในการที่คิดทำกระติกเหล็กวิลาสขึ้นทูลเกล้าในครั้งนั้น

๓ พฤษภาคม ๒๔๒๓ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติมงกุฎสยาม ชั้นที่ ๔ (ภัทราภรณ์) และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็นทหารสำหรับสำนักทูต ออกไปราชการด้วยท่านเจ้าพระยาภาณุวงศ์มหาโกษาธิบดี ซึ่งเป็นเอกอัครราชทูต ออกไปราชการประเทศฝรั่งเศสและประเทศอังกฤษ

๑๙ มิถุนายน ๒๔๒๘ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานสัญญาบัตรให้เป็นนายพันตรี พระวรเดชศักดาวุธ ในกรมทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ ถือศักดินา ๑๕๐๐

๘ เมษายน ๒๔๓๐ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานสัญญาบัตรให้เป็นเจ้าพนักงานผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบกที่ ๒ เมื่อครั้งแรกตั้งกรมยุทธนาธิการเดิมนั้น

๒๑ ธันวาคม ๒๔๓๑ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎสยาม ชั้น ๓ (มัณฑนาภรณ์) และโปรดเกล้าฯ ให้ออกไปตรวจราชการทหารที่ประเทศญี่ปุ่น พร้อมด้วยท่านเจ้าพระยาภาษกรวงศ์ เอกอัครราชทูตพิเศษ ซึ่งออกไปเจริญทางพระราชไมตรีครั้งนั้น ออกจากกรุงเทพฯ เมื่อ ๒๘ ธันวาคม ๒๔๓๑ กลับถึงกรุงเทพฯ เมื่อ ๑๓ มีนาคม ๒๔๓๒

พ.ศ.๒๔๓๑ จัดราชการตั้งกองทหารม้าหลวงใหม่ โปรดเกล้าฯ ให้ไปเป็นผู้บังคับการกองทหารม้า จัดราชการได้เรียบร้อยเป็นคราวแรก แล้วจึงกลับมารับราชการตำแหน่งเดิม

๖ กรกฎาคม ๒๔๓๑ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานสัญญาบัตรให้เป็นนายพันเอกทหารบก

พ.ศ.๒๔๓๓ ตั้งกรมยุทธนาธิการใหม่ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้รับราชการในตำแหน่ง ยกกระบัตรใหญ่ในกรมทหารบก

พ.ศ.๒๔๓๕ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้รับราชการในตำแหน่งเจ้ากรมยุทธภัณฑ์

๓ กันยายน ๒๔๓๕ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานสัญญาบัตรให้เป็นนายพลจัตวาทหารบก

๑๕ พฤศจิกายน ๒๔๓๕ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานสัญญาบัตรให้เป็นพระยาวรเดชศักดาวุธ

๓๑ ธันวาคม ๒๔๓๕ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเชิดชูยิ่งช้างเผือกสยาม ชั้น ๔ (ภูษนาภรณ์)

๒๐ มีนาคม ๒๔๓๖ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็นองคมนตรี

๒ ตุลาคม ๒๔๓๖ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเหรียญรัชฎาภิเศกมาลา

๒ ธันวาคม ๒๔๓๖ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฏสยาม ชั้นที่ ๒ (จุลสุราภรณ์) ในการรัชฎาภิเศก

๘ ธันวาคม ๒๔๓๖ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเหรียญจักรมาลา โดยที่ได้รับราชการสนองพระเดชพระคุณอยู่ในกรมทหาร ตั้งแต่เป็นพลทหารและเลื่อนตำแหน่งยศจนถึงนายพลจัตวา รวมปีที่รับราชการอยู่ในกรมทหารได้ ๒๔ ปี ไม่มีความผิด

๒๔ มกราคม ๒๔๓๗ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็นรัฐมนตรี

๑๐ ตุลาคม ๒๔๓๘ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็นกรรมการตรวจตัดสินที่นาในระหว่างข้าราชการ บริษัท และราษฎรวิวาทกัน

๑๖ พฤศจิกายน ๒๔๓๘ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า ชั้นที่ ๒ (ทุติยะจุลจอมเกล้า) และพระราชทานพานทองด้วย

พฤษภาคม ๒๔๔๐ มีพระราชเสาวณีย์โปรดเกล้าฯ ให้ออกไปเป็นข้าหลวงเทศาภิบาลสำเร็จราชการ มณฑลปราจีนบุรี

๒ มิถุนายน ๒๔๔๐ พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นดำรงราชานุภาพ นำเฝ้ากราบทูลลาไปรับตำแหน่งข้าหลวงเทศาภิบาลสำเร็จราชการ มณฑลปราจีนบุรี

๒๔ มกราคม ๒๔๔๑ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ทุติยะจุลจอมเกล้าวิเศษ

๑๓ กันยายน ๒๔๔๑ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเหรียญมาลา

๒๑ กันยายน ๒๔๔๑ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานสัญญาบัตรเลื่อนตำแหน่งยศทหารให้เป็นนายพลตรีทหารบก ขึ้นอยู่ในกรมยุทธนาธิการ และเป็นราชองครักษ์พิเศษด้วย ในวันเดียวกันนี้ สมเด็จพระนางเจ้า พระบรมราชินีนาถ โปรดเกล้าฯ พระราชทานเหรียญบรมราชินี

สิงหาคม ๒๔๔๒ กระทรวงมหาดไทยรับพระบรมราชโองการให้ไปรับราชการตำแหน่งข้าหลวงเทศาภิบาลสำเร็จราชการ มณฑลราชบุรี (สืบแทนเจ้าพระยาสุรพันธ์ ซึ่งทุพพลภาพ กราบถวายบังคมลาออกจากราชการ)

๒๐ กันยายน ๒๔๔๒ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเหรียญจักรพรรดิมาลา เพื่อเป็นที่ระลึกในการที่ได้รับพระราชทานสัญญาบัตรครั้งแรก นับมาได้ ๒๘ ปีมาแล้ว

๑๙ ตุลาคม ๒๔๔๒ ได้กราบถวายบังคมลาไปรับราชการตำแหน่งข้าหลวงเทศาภิบาลสำเร็จราชการ มณฑลราชบุรี

๑ สิงหาคม ๒๔๔๔ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานสัญญาบัตรเลื่อนตำแหน่งยศให้เป็นนายพลโททหารบก คงรับตำแหน่งในหน้าที่ข้าหลวงเทศาภิบาลสำเร็จราชการ มณฑลราชบุรี

๓๐ มกราคม ๒๔๔๕ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานสัญญาบัตรให้เป็นพระยาเทพอรชุนวิบุลยเสนานุกูลกิจวิสิฐภักดีพิริยพาห ปลัดทูลฉลองกระทรวงกลาโหม ถือศักดินา ๔๐๐๐ และให้กลับเข้ารับราฃการในกระทรวงกลาโหม พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎสยาม ชั้นที่ ๑ (มหาสุราภรณ์) (ในโอกาสนี้ท่านเห็นเป็นสิริมงคล จึงตั้งชื่อหลานปู่คนแรกซึ่งเพิ่งเกิดของท่านว่า “เทพ” ต่อมาเป็นร้อยโทขุนเทพสรสิทธิ์)

๓ ตุลาคม ๒๔๔๖ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเหรียญทวีธาภิเศก

ธันวาคม ๒๔๔๖ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็นพระยายืนชิงช้า ปี พ.ศ.๒๔๔๖

๒๔ กุมภาพันธ์ ๒๔๔๗ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ไปเป็นผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารเรือชั่วคราว แต่ยังคงดำรงตำแหน่งปลัดทูลฉลองกระทรวงกลาโหม

๑๑ พฤษภาคม ๒๔๔๗ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานสัญญาบัตรให้เป็นนายพลเรือตรี รับราชการในกรมทหารเรือ

๒๓ ตุลาคม ๒๔๔๗ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลที่ ๔ ชั้นที่ ๕ โดยที่ได้ทำราชการเป็นมหาดเล้กในเวลาโน้น

๒๒ พฤศจิกายน ๒๔๕๐ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเข็มอักษรในการเสด็จพระราชดำเนินประพาสยุโรป (ครั้งนี้สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้ากรมขุนนครสวรรค์วรพินิจ ผู้บัญชาการทหารเรือได้ตามเสด็จฯ ฉะนั้นพระยาเทพอรชุน ในตำแหน่งปลัดทูลฉลองฯ จึงต้องเข้าประขุมที่ประชุมเสนาบดีแทนในฐานะผู้บัญชาการทหารเรือ)

๓๐ พฤศจิกายน ๒๔๕๐ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเหรียญรัชมงคล

๗ พฤศจิกายน ๒๔๕๑ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเหรียญรัชมังคลา

๑๑ พฤศจิกายน ๒๔๕๑ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์ ชั้นที่ ๓

ต่อมาในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานตราตั้งให้เป็นองคมนตรี

๒๓ ธันวาคม ๒๔๕๓ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ยกเลิกตำแหน่งผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารเรือ และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็นปลัดทูลฉลองกระทรวงทหารเรือ

๓๑ ธันวาคม ๒๔๕๓ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเชิดชูยิ่งช้างเผือก ชั้นที่ ๑ (มหาวราภรณ์)

๘ เมษายน ๒๔๕๔ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ปลดออกจากทะเบียนประจำการ ให้อยู่ในแผนกนายทหารรับพระราชทานเงินเลี้ยงชีพ

๗ กุมภาพันธ์ ๒๔๕๕ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเหรียญพระบรมราชาภิเศกกาหลั่ยทอง

พระยาเทพอรชุน มีภรรยา ๔ คน

            คุณหญิงสาย (จารุจินดา) มีบุตรและธิดา ๓ คน

            คุณอบเชย ไม่มีบุตรและธิดา

            คุณชื่น ไม่มีบุตรและธิดา

            ม.ล.หญิง จวง (ปาลกะวงศ์) มีธิดา ๑ คน

พระยาเทพอรชุน ป่วยเป็นวัณโรค ถึงแก่อนิจกรรมเมื่อวันที่ ๕ สิงหาคม ๒๔๕๖ รวมสิริอายุ ๖๒ ปี ๘ วัน ได้รับพระราชทานโกศทรงศพเป็นเกียรติยศ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จพระราชดำเนินไปพระราชทานเพลิงศพ ณ วัดราชาธิวาส กรุงเทพฯ ในปีเดียวกันนั้นเอง

          พระยาศรีธรรมศุภราช (เจริญ จารุจินดา) เป็นบุตรพระยาเพชรพิไชย (ทองจีน จารุจินดา) และคุณหญิงเย็น เพชรพิไชย (เกตุทัต) เกิดเมื่อวันที่ ๓ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๐๘ มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน ๑๐ คน มีพี่น้องร่วมบิดา ๑ คน

          พระยาศรีธรรมศุภราช ได้ถวายตัวทำราชการเป็นมหาดเล็กเวรศักดิ์ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อ พ.ศ.๒๔๒๐ ฝึกหัดราชการอยู่ในกรมมหาดเล็กจน พ.ศ.๒๔๒๙ เมื่อพระยาเพชรพิไชย ผู้บิดาเป็นข้าหลวงขึ้นไปประจำอยู่ประจำนครเชียงใหม่ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ไปช่วยราชการบิดา ไปประจำราชการเมืองลำพูน และได้รับพระราชทาน สัญญาบัตรเป็น นายรองพลพัน

ครั้นเสร็จราชการกลับมากรุงเทพฯ ไปรับราชการในกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ ๓ ปี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานสัญญาบัตรเลื่อนเป็น ขุนพรหมรักษา ปลัดกรมทหารใน รับราชการอยู่ในตำแหน่งนี้ ๔ ปี

พ.ศ.๒๔๔๐ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ได้ขอตัวมารับราชการในกระทรวงมหาดไทย โดยไปรับตำแหน่งปลัดเมืองสุพรรณบุรี

พ.ศ.๒๔๔๑ ตำแหน่งผู้ว่าราชการเมืองชลบุรีว่างลง จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ไปว่าราชการเมืองชลบุรี และพระราชทานสัญญาบัตรเลื่อนเป็น พระยาชลบุรานุรักษ์ ในปี พ.ศ.๒๔๔๒

พ.ศ.๒๔๔๕ ย้ายไปเป็นปลัดมณฑลนครศรีธรรมราช ช่วยราชการเจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม)

พ.ศ.๒๔๔๙ ตำแหน่งสมุหเทศาภิบาลมณฑลพิษณุโลกว่างลง จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ไปเป็นสมุหเทศาภิบาลมณฑลพิษณุโลก แต่อยู่ได้ไม่กี่เดือน เมื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ย้ายเจ้าพระยายมราชมาเป็นเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ทรงพระราชดำริเห็นว่า มณฑลนครศรีธรรมราช   เป็นมณฑลใหญ่ มีราชการมากกว่ามณฑลพิษณุโลก และพระยาศรีธรรมศุภราชเข้าใจมณฑลนั้นแล้ว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ย้ายไปเป็นสมุหเทศาภิบาลมณฑลนครศรีธรรมราช ในปีเดียวกันนั้น

พ.ศ.๒๔๕๓ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ย้ายไปเป็นสมุหเทศาภิบาลมณฑลอีสาน

          พระยาศรีธรรมศุภราช ตั้งแต่รับราชการสนองพระเดชพระคุณมา ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ตั้งแต่ขั้นต่ำขึ้นมาโดยลำดับ จนถึงมงกุฎสยาม ชั้นที่ ๓ (มัณฑนาภรณ์) ครั้นมาถึงในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เลื่อนขึ้นเป็น พระยาศรีธรรมศุภราชบรมนารถนิตยภักดีพิริยาหะ ตำแหน่งสมุหเทศาภิบาล ถือศักดินา ๑๐๐๐๐

          พระยาศรีธรรมศุภราช มีภรรยา ๕ คน

            - คุณจั่น               มีบุตรและธิดา ๒ คน

            - คุณหวาน           มีบุตรและธิดา ๔ คน

            - คุณหรุ่น             มีบุตร ๑ คน

            - คุณจัน               มีบุตร ๑ คน

            - คุณหญิงเล็ก (อมาตยนนท์) มีบุตรและธิดา ๙ คน

          พระยาศรีธรรมศุภราช ได้เข้ามากรุงเทพฯ เมื่อ พ.ศ.๒๔๕๕ แล้วป่วยเป็นวัณโรค ถึงแก่อนิจกรรม เมื่อวันที่ ๑๐ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๔๕๕ รวมอายุได้ ๔๗ ปี ๘ เดือน ๗ วัน ได้รับพระราชทานโกศทรงศพเป็นเกียรติยศ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จพระราชดำเนินไปพระราชทานเพลิงศพ ณ วัดราชาธิวาส กรุงเทพฯ คราวเดียวกับ พระยาเทพอรชุน (เจ๊ก จารุจินดา) เมื่อ พ.ศ.๒๔๕๖